คุณขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย กล่าวในงานเปิดตัว “แอปฯ หมอ กทม.” ร่วมกับกรุงเทพมหานคร ว่า ดิจิทัลเทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญกับโลกอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง โดยมีโควิด-19 เป็นตัวเร่งให้ทุกอย่างเกิดเร็วขึ้น องค์กรที่สามารถนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้กับธุรกิจหรือบริการจะได้ประโยชน์จากโลกที่เปลี่ยนแปลงไป และพร้อมรองรับความต้องการของผู้ใช้บริการในอนาคต เราจึงได้เห็นหลายองค์กรที่อยู่ในช่วงการปรับเปลี่ยนเพื่อให้ทันกับแนวโน้มที่เกิดขึ้น ซึ่งในช่วงการเปลี่ยนผ่านดังกล่าว ต้องใช้ทั้งเวลา งบประมาณ ทีมงาน และเทคโนโลยี การร่วมมือกันจึงเป็นการสร้างความยั่งยืนด้วยกัน

“ธนาคารจึงได้ร่วมมือและสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ในการพัฒนาดิจิทิลเทคโนโลยี เพื่อนำมาใช้พัฒนาระบบบริการ ฐานข้อมูลต่างๆ ระบบชำระเงินที่มีอยู่ในปัจจุบันให้ดีขึ้น รวมถึงเป็นการพัฒนาเพื่อรองรับ “อนาคต” เพิ่มศักยภาพการให้บริการ ทำให้ทุกคนเข้าถึงบริการต่างๆ ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตได้อย่างทั่วถึง”

สำหรับภาคสาธารณสุข คุณขัตติยา มองว่า ระบบบริการทางการแพทย์ของประเทศไทยมีโจทย์ท้าทายรออยู่ข้างหน้าหลายอย่าง ทั้งสังคมสูงวัย โรคภัยใหม่ๆ จำนวนบุคลากรทางการแพทย์ ฯลฯ โดยธนาคารได้สนับสนุนและร่วมพัฒนา Digital Healthcare Platform โดยมีแอปพลิเคชันเป็นเครื่องมือสำคัญในการให้บริการเบื้องต้นกับผู้มาใช้บริการของโรงพยาบาลรัฐต่างๆ

ปัจจุบันมีแอปฯ ที่เปิดใช้บริการแล้ว ได้แก่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย (แอปฯ
Chula Care), โรงพยาบาลชลบุรี (แอปฯ CBH PLUS), โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ เฉลิมพระเกียรติ (แอปฯ TUH for all), โรงพยาบาลราชวิถี (แอปฯ RJ Connect), และสถาบันประสาทวิทยา (แอปฯ NIT PLUS)

ล่าสุด ได้ร่วมกับกรุงเทพมหานคร เปิดตัวแอปฯ “หมอ กทม.” ภายใต้โครงการ “Smart OPD” ดาวน์โหลดแค่แอปฯ เดียว (Single App) ใช้ได้กับโรงพยาบาล 11 แห่งในสังกัดสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร โดยแต่ละโรงพยาบาลจะเริ่มทยอยขึ้นจนครบ 11 โรงพยาบาล* ภายในปลายเดือนมีนาคม 2565

“ผลตอบรับจากการใช้บริการผ่านแอปฯ จะถูกนำมาต่อยอดพัฒนาฟีเจอร์ใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์การให้บริการมากยิ่งขึ้น รวมถึงสามารถขยายความเชื่อมโยงกับระบบบริการระหว่างหน่วยงานต่างๆ เพื่อช่วยทำให้ระบบสาธารณสุขประเทศมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น” นี่คือเป้าหมายร่วมกันระหว่างธนาคารกสิกรไทยและหน่วยงานบริการทางการแพทย์ต่างๆ

นอกจากนี้ ธนาคารกสิกรไทย ยังได้นำเทคโนโลยีมาช่วยสนับสนุนอีก 2 หน่วยงานหลักที่เป็นพื้นฐานสำคัญของประเทศ คือ ด้านการศึกษา ได้พัฒนาแอปฯ CU NEX ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำให้นิสิตสามารถใช้แอปฯ สำหรับการเรียน ร่วมกิจกรรม ติดต่อกับหน่วยงานต่างๆ ซึ่งมีประโยชน์มากในช่วงสถานการณ์โควิด เช่น การเลือกตั้งผ่านแอปฯ , รวมถึงข้อมูลและการจองวัคซีนซึ่งสามารถจองได้ผ่านแอปฯ เป็นต้น

สำหรับการท่องเที่ยว ได้พัฒนาแอปฯ TAGTHAi (ทักทาย) ร่วมกับบริษัท ไทย ดิจิทัล แพลตฟอร์ม วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และ KBTG โดยแอปฯ TAGTHAi เป็นแพลตฟอร์มบริการด้านการท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงข้อมูลการท่องเที่ยว สินค้าและบริการของผู้ประกอบการแบบครบวงจร

“แนวทางการช่วยพัฒนาสังคมของธนาคาร ไม่ใช่แค่ให้เงินสนับสนุน แต่เป็นการลงมือลงแรงไปช่วยทำในสิ่งที่เราถนัดด้วย แต่ละโครงการที่ธนาคารร่วมมือกับหน่วยงานภาคสังคมต่างๆ ธนาคารสนับสนุนทั้งกำลังคน เทคโนโลยี ประสบการณ์ความเชี่ยวชาญ และร่วมกันทำให้เกิดขึ้นจริง และสามารถใช้งานต่อได้ในระยะยาว โลกล้ำหน้ามากยิ่งขึ้น เทคโนโลยีรูปแบบใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา แต่เทคโนโลยีจะมีความหมาย ก็ต่อเมื่อเราสามารถเอาเทคโนโลยีเหล่านั้นมาใช้ตอบโจทย์ชีวิตของทุกคนในสังคมให้ดียิ่งขึ้น” คุณขัตติยา กล่าวปิดท้าย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน