มกธ. ผนึก กรมคุ้มครองสิทธิฯ เปิดศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน หวังช่วยคนไทยเข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรม แก้ปัญหาคดีเล็กน้อยไม่ต้องถึงชั้นศาล

วันที่ 17 พ.ค.2565 ที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี (มกธ.) คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ร่วมกับ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) ลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพกับมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี

โดย นายเรืองศักดิ์ สุวารี อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และ รศ.ดร.บังอร เบ็ญจาธิกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี พร้อมทั้งทำพิธีเปิด “ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน” ที่อาคารซีซี อาเซียน ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมพัฒนาความร่วมมือทางวิชาการที่เกี่ยวข้องร่วมกัน อาทิ การจัดอบรมเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นผู้ไกล่เกลี่ยภาคประชาชน การอบรมให้ความรู้กับประชาชนที่สนใจในเรื่องการไกล่เกลี่ย เป็นต้น

ซึ่งความร่วมมือทางวิชาการดังกล่าวของมหาวิทยาลัยฯ ถือเป็นบทบาทหน้าที่ตามภารกิจที่สำคัญประการหนึ่งในด้านการให้บริการวิชาการแก่สังคม โดยมี รศ.ดร.บังอร, นายเรืองศักดิ์, รศ.(พิเศษ) ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการและโฆษกกระทรวง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และ ผศ.ดร.วิทยา เบ็ญจาธิกุล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี (มกธ.) รวมทั้งผู้นำชุมชน 17 ในเขตทวีวัฒนาเข้าร่วมงาน

จากนั้น ได้มีการเสวนาหัวข้อ “เราเคลียร์กันได้” โดย รศ.(พิเศษ)ดร.ดวงฤทธิ์ กล่าวในการเสวนาตอนหนึ่งว่า โครงการนี้เกิดขึ้นได้เพราะส่วนหนึ่งนโยบายกระทรวง อว. มีความมุ่งมั่นอยากให้มหาวิทยาลัยรัฐและเอกชนทำงานกันเป็นทีมภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน โดย อว.พร้อมสนับสนุนอย่างเต็มที่เพื่อให้มีโครงการแบบนี้ในทุกมหาวิทยาลัย เพื่อสนับสนุน ส่งเสริม คุ้มครอง และเสริมสร้างหลักประกันด้านสิทธิเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน

และส่งเสริมการพัฒนาระบบและกลไกการระงับข้อพิพาทในสังคม รวมทั้งส่งเสริมการดำเนินการช่วยเหลือประชาชนตามกฎหมายว่าด้วยการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในภาคประชาชน ทั้งนี้ การทำให้คู่กรณีที่เกิดข้อพิพาทสามารถไกล่เกลี่ยกันได้จะไม่ทำให้เกิดบาดแผลในใจระหว่างกัน สังคมก็อยู่อย่างมีความสุข

ด้าน นายเรืองศักดิ์ กล่าวว่า กรมได้งบประมาณจากรัฐบาลเพื่อจัดอบรมหลักสูตรผู้ไกล่เกลี่ยภาคประชาชนเพียงปีละ 100 คน กรมจึงต้องร่วมมือกับพันธมิตรภาคเอกชนเดินหน้าโครงการนี้ ขณะนี้พื้นที่กทม.ดำเนินการตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยภาคประชาชนไปแล้ว 250 ศูนย์ เพื่อให้ประชาชนมีความรู้ด้านกฎหมาย เคารพสิทธิและไม่ถูกละเมิดสิทธิส่วนบุคคล

รัฐต้องการให้มีประชาชนเข้าอบรมและสอบเป็นผู้ไกล่เกลี่ยภาคประชาชนเพื่อให้คดีเล็ก ๆ น้อย ๆ ไม่ต้องไปถึงขั้นศาล โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่ถ้าปล่อยให้เมื่อมีกรณีพิพาทกันตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการในชั้นศาลคู่กรณีจะต้องเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 1.2 แสนบาท สิ่งที่ตามหาคือคนแพ้ถูกบังคับคดี ขณะที่คนชนะกว่าจะได้เงินก็รอนานมาก

วันนี้คดีที่ถูกฟ้องคดีในลักษณะนี้มากคือ การกู้ยืมเงินกองทุน กยศ.และไม่ชำระ มีผู้ที่อยู่ในกลุ่มนี้มากถึง 3 แสนคน ดังนั้นการที่เราขับเคลื่อนงานยุติธรรมผ่านบ้าน วัด โรงเรียน มหาวิทยาลัยจึงมีเป้าหมายให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ขณะที่ ผศ.ดร.วิทยา กล่าวว่า ทุกวันนี้ประชาชนส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรม อย่างคดีอาญาโทษไม่เกิน 3 ปี ถ้าสามารถเจรจากันได้ สิทธิทางอาญาจะถูกระงับไป ส่วนคดีแพ่งทุนทรัพย์ไม่เกิน 5 แสนก็สามารถเจรจากันได้ผ่านศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชนด้วยการทำสัญญาประนีประนอมยอมความเรื่องก็จบ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ซึ่งประชาชนมาร้องเรียนได้ที่ศูนย์ดังกล่าวเราจะแต่งตั้งผู้ไกล่เกลี่ยเข้าช่วยเหลือ ทั้งนี้ การจะเป็นผู้ไกล่เกลี่ยภาคประชาชนต้องผ่านการอบรมหลักสูตร 36 ชั่วโมงและต้องสอบกฎหมายที่เกี่ยวข้องทางกรมคุ้มครองสิทธิฯจึงจะขึ้นบัญชีเป็นผู้ไกล่เกลี่ยฯ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน