คพ. จับมือ 6 หน่วยงาน ร่วมติดตั้งอุปกรณ์บำบัดไอเสียรถยนต์ สำหรับรถยนต์ดีเซลขนาดใหญ่ใช้งานเพื่อการพาณิชย์ ชี้ช่วยลดฝุ่นPM2.5 ได้ร้อยละ 90

เมื่อวันที่ 18 พ.ค. ที่กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการศึกษาประสิทธิผลของการติดตั้งอุปกรณ์บำบัดไอเสียรถยนต์ สำหรับรถยนต์ดีเซลขนาดใหญ่ใช้งานเพื่อการพาณิชย์ เพื่อลดมลพิษทางอากาศในประเทศ ร่วมกับ 7 หน่วยงาน ได้แก่ กรมการขนส่งทหารเรือ กรมการขนส่งทางบก องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ บริษัท สามมิตร กรีนพาวเวอร์ จำกัด บริษัท Eminox Ltd บริษัท เอสซีจี โลจิสติกส์ จำกัด และบริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัด

นายอรรถพล กล่าวว่า รัฐบาลได้มีมติให้การแก้ไขปัญหามลภาวะด้านฝุ่นละอองเป็นวาระแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2562 ซึ่งหนึ่งในการแก้ปัญหา คือ การควบคุมมลพิษตั้งแต่แหล่งกำเนิดมลพิษ ซึ่งพบว่ากลุ่มรถยนต์ดีเซลทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ที่มีอายุการใช้งานมากกว่า 15 ปี มีจำนวนมากถึงร้อยละ 60 ของรถยนต์เครื่องยนต์ดีเซลที่มีการใช้งานในประเทศ ซึ่งนับว่าเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษที่สำคัญของฝุ่น PM2.5

ดังนั้นคพ. จึงร่วมกับ 6 หน่วยงาน เพื่อร่วมกันดำเนินโครงการศึกษาประสิทธิผลของการติดตั้งอุปกรณ์บำบัดไอเสียรถยนต์ สำหรับรถยนต์ดีเซลขนาดใหญ่ใช้งานเพื่อการพาณิชย์ เพื่อลดมลพิษทางอากาศ ซึ่งในระยะแรกจะเน้นในรถบรรทุกขนาดใหญ่ ก่อนขยายต่อยอดไปยังรถกระบะและรถยนต์ต่อไป

สำหรับอุปกรณ์ส่วนของท่อไอเสียที่ช่วยกรองเขม่าไอเสียในรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล (Diesel Particulate Filter : DPF) เป็นเทคโนโลยีสำหรับกรองฝุ่นละอองจากไอเสียรถยนต์ที่มีการติดตั้งในรถยนต์ในระดับมาตรฐานยูโร 5 และ 6 มีประสิทธิภาพลดฝุ่นละอองทั้งน้ำหนักและจำนวนอนุภาคจากไอเสียรถยนต์ได้ถึงร้อยละ 90

ปัจจุบันใช้งานกับรถยนต์กลุ่มมาตรฐานดังกล่าว และรถใช้งานที่ใช้เทคโนโลยีเก่ามากกว่า 10 – 15 ปี พบมีประสิทธิภาพเป็นที่น่าพอใจและเป็นที่ยอมรับทั่วโลก เพื่อใช้จัดการและแก้ปัญหาฝุ่นละอองจากไอเสียรถยนต์ทั้งกับรถยนต์ใหม่และรถยนต์ใช้งานด้วย

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน