สภาฯจับมือ สสส.ปลุก “ขรก.รัฐสภา” ออกกำลังกายบรรเทาความเครียด ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ มุ่งหวังให้ความรู้ แนวทางป้องกัน-หลีกเลี่ยงอันตรายจากโรคซึมเศร้าโดยไม่รู้ตัว
เมื่อวันที่ 22 มี.ค.67 ที่รัฐสภา สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร โดยคณะทำงานเสริมสร้างความผาสุกและเสริมสร้างความผูกพันของสำนักพัฒนาบุคลากร ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โครงการสื่อสารนโยบายสาธารณะเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ ร่วมจัดกิจกรรมสื่อสารรณรงค์ “ออกกำลังกาย สลายซึมเศร้าบรรเทาความเครียด”
โดยมีน.ส.ศุภพรรัตน์ สุขพุ่ม รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานพิธีเปิดกิจกรรม พร้อมด้วยนายเศรษฐพงษ์ ศรีเลิศ ผู้บังคับบัญชากลุ่มงานส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรม สำนักพัฒนาบุคลากร น.ส.บุษดี พนมภู ผู้จัดการโครงการสื่อสารนโยบายสาธารณะเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ
มีนายเตชิต เลิศเอนกวัฒนา นักวิทยาศาสตร์การกีฬา วิทยากรออกกำลังกายเครือข่ายคนไทยไร้พุง บรรยายในหัวข้อ “พฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคซึมเศร้าและการแก้ไขในเบื้องต้น” และ “ครูติ๊ก” นางจิราพร ประจันนวล ครูแอโรบิก คาร์ดิโอ เวนเทรนนิ่ง นำออกออกกำลังกายฯ พร้อมกันนี้ได้มีพิธีเปิดห้อง “Fulfill เติมเต็มความสุข” เพื่อเสริมสร้างองค์กรแห่งความสุขด้านสุขภาพร่างกายและจิตใจอย่างยั่งยืน
น.ส.ศุภพรรัตน์ กล่าวว่า กิจกรรมดังกล่าว เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการสร้างสมดุลชีวิตของบุคลากรสำนักงานเลขาธิการสภาฯ ให้มีสุขภาพที่ดีทั้งทางร่างกายและจิตใจ เพราะบริบทการทำงานของข้าราชการในรัฐสภาที่มีการทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ต่อเนื่อง การนั่งประชุมเป็นเวลานานๆ ปฏิบัติหน้าที่ในท่าทางเดิมๆซ้ำๆ ส่งผลให้หลายคนมีภาวะเครียดและซึมเศร้าโดยไม่รู้ตัว ซึ่งการออกกำลังกาย หรือการขยับร่างกายระหว่างวันเป็นแนวทางหนึ่งที่ช่วยลดอาการทางจิตได้หลายอาการ ทั้งความเครียดหรือซึมเศร้า ช่วยเพิ่มระดับสารเคมีในสมอง หรือสารสื่อประสาทที่ปรับอารมณ์ให้ดีขึ้น หลับลึกขึ้น ลดฮอร์โมนความเครียด และมีผลให้จิตใจสงบขึ้น ซึ่งผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะได้รับความรู้ในการป้องกัน ได้รับคำแนะนำท่าออกกำลังกายง่ายๆเพื่อช่วยคลายความเครียด
“กิจกรรมนี้มุ่งหวังให้ข้าราชการรัฐสภา ตระหนักถึงอันตรายที่เกิดจากความเครียดและภาวะซึมเศร้า ตระหนักถึงความสำคัญของการออกกำลังกาย ส่งเสริมให้บุคลากรมีกิจกรรมทางร่างกายและจิตใจที่เหมาะสมเพื่อการมีสุขภาพที่ดี หวังว่าผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะได้ความรู้ความเข้าใจ แนวทางปฏิบัติเพื่อป้องกัน และวิธีหลีกเลี่ยงเกี่ยวกับปัญหาอันตรายจากความเครียดและโรคซึมเศร้า ด้วยการแบ่งเวลาในการออกกำลังกายหรือการขยับร่างกายอย่างเหมาะสม รวมทั้งนำความรู้จากการเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อสุขภาพที่ดีของตัวเอง และนำไปสู่เป้าหมายในการปฏิบัติหน้าที่การทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ”รองเลขาธิการสภาฯกล่าว