29 มี.ค. จากการแสละครดัง ‘บุพเพสันนิวาส’ ที่กำลังเข้มข้นอยู่ในขณะนี้ ทำให้คนรุ่นใหม่รวมถึงเด็กและเยาวชนหันมาสนใจประวัติศาสตร์ไทย สมัยกรุงศรีอยุธยา ในรัชกาลของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช หรือ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 3 แห่งราชวงศ์ปราสาททองกันมากยิ่งขึ้น

วันนี้ข่าวสดออนไลน์จะพามาชาวเน็ตทุกคน มาเจาะลึกเกร็ดประวัติศาสตร์ของ ‘สมุดข่อย’ สมุดที่ใช้ในสมัยกรุงศรีอยุธยา และยังเป็นสมุดที่ใช้สำหรับจด ‘มนต์กฤษณะกาลี’ ของพระโหราธิบดีอีกด้วย

Image/medium.com/ภาพจิตรกรรมในสมุดข่อย สมัยอยุธยา เกี่ยวกับพุทธประวัติและไตรภูมิ

‘สมุดข่อย’ คือสมุดโบราณที่ทำมาจากกระดาษข่อย โดยนำแผ่นกระดาษข่อยมาพับทบกันไปมา มีลักษณะทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีปกแต่ไม่มีสันปก สามารถเขียนได้ทั้ง 2 หน้า ถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สร้างสรรค์จากภูมิปัญญาไทย

มักใช้บันทึกเรื่องราวทางศาสนา เช่น ไตรภูมิ, ชาดกต่างๆ, พระมาลัย บันทึกตำราต่างๆ เช่น ตำรายา, โหราศาสตร์, พิชัยสงคราม บันทึกจดหมายเหตุ เช่น พงศาวดาร, ตำนาน, เหตุการณ์บ้านเมือง และบันทึกวรรณคดี มักเป็นคำประพันธ์ประเภทร้อยกรอง

Image/oknation.nationtv.tv/หนังสือสวดเรื่องพระมาลัย

จากข้อมูลอ้างอิงของเว็บไซต์โอเคเนชั่น ได้ยกหลักฐานจากหนังสือราชอาณาจักรสยาม ของ เดอ ลาลูแบร์ หนึ่งในคณะราชทูตฝรั่งเศสที่เข้ามายังกรุงศรีอยุธยา ในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้มีบันทึกไว้ว่า..

“ชาวสยามทำกระดาษจากผ้าฝ้ายเก่า ๆ และยังทำจากเปลือกต้นไม้ชนิดหนึ่งชื่อต้น ข่อย (Ton Coe) อีกด้วย ซึ่งต้องนำมาบดย่อยให้ละเอียด เช่นอย่างย่อยผ้าขี้ริ้ว แต่กระดาษเหล่านี้มีความหนาบางไม่สม่ำเสมอ ทั้งเนื้อกระดาษและความขาวผ่องก็หย่อนกว่าเรา

ฉะนั้น ชาวสยามจึงไม่ใช้หมึกจีน (สีดำ) เขียนบนกระดาษของพวกเขา ส่วนมากมักชุบหมึกให้ดำ ซึ่งทำให้เนื้อกระดาษแน่นขึ้น แล้วใช้เขียนด้วยดินสอชนิดหนึ่ง (สอ แปลว่า ขาว) ซึ่งเป็นดินเหนียวปั้นตากแดด

หนังสือของพวกเขาไม่มีการเข้าเล่ม เย็บสัน หากทำเป็นแผ่นยาวเหยียดไม่ใช้วิธีม้วนเก็บเช่นบรรพบุรุษของเรา หากพับทบไปมาอย่างพับพัดด้ามจิ้ว และทางที่ตีเส้นบรรทัดเขียนตัวอักษรนั้น เป็นไปตามทางยาวของรอยพับ หาได้เขียนทางด้านขวางไม่”

Image/oknation.nationtv.tv/คังไคยหัตถี สมุดภาพตำราคชลักษณ์

ส่วนขั้นตอนในการทำสมุดข่อยนั้น ชาวบ้านในสมัยกรุงศรีอยุธยาจะนิยมตัดข่อยหลังฤดูเก็บเกี่ยว ซึ่งกิ่งข่อยจะต้องไม่แก่จัด นำมาลอกเปลือกออกแล้วตากแห้ง ก่อนจะนำเปลือกข่อยมามัดรวมกันแล้วแช่น้ำ 3-4 วัน เพื่อให้เปลือกเปื่อย

หลังจากนั้นก็นำมาฉีกเป็นฝอย แล้วคลุกเคล้าปูนขาวเข้ากับเปลือกข่อย จากนั้นนำใบตองมาปิดไว้ไม่ให้ข่อยแห้ง โดยทั้งไว้ 2 คืนก่อนนำไปนึ่งในรอม ที่ทำจากไม้ไผ่สานตาถี่ๆ รูปทรงกระบอก

เมื่อเปลือกข่อยเปื่อยแล้วก็นำมาทุบให้เรียบ จนมีลักษณะเป็นเหยื่อพร้อมที่จะทำกระดาษ แล้วนำไปหล่อด้วยการปั้นเยื่อข่อยให้เป็นก้อนขนาดเท่าๆกัน แล้วนำไปละลายน้ำในครุที่ทำด้วยไม้ไผ่สานตาถี่ ลักษณะคล้ายกระบุง จากนั้นให้วางพะแนง (แม่พิมพ์ที่ใช้พิมพ์กระดาษ) ลงในน้ำนิ่ง นำเยื่อข่อยลงในพะแนงกระจายให้ทั่วแล้วยกขึ้นจากน้ำ มาตากแดด เมื่อลอกออกจะได้กระดาษในที่สุด

Image/oknation.nationtv.tv/นางอัปสร 5 องค์ ประโคมดนตรี สมุดภาพวัดปากคลอง จังหวัด เพชรบุรี เล่ม 2

จะเห็นกว่าในสมัยอยุธยานั้น กว่าที่เราจะได้กระดาษข่อยมาให้ทำสมุด มีขั้นตอนและลายละเอียดที่ซับซ้อน และละเอียดพอสมควร เป็นสิ่งที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์และรู้สึกภาคภูมิใจในภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ
การตามรอยประวัติศาสตร์จากกระแสละคร ‘บุพเพสันนิวาส’ ก็นับเป็นอีกหนึ่งโอกาสที่ดีที่จะทำให้เด็กรุ่นใหม่ มีความเข้าใจถึงรากเหง้าของความเป็นไทยมากขึ้น

ข้อมูลจาก: wathuakrabeu.com, oknation.nationtv.tv และ สมุดข่อย (บุญเตือน ศรีวรพจน์, ประสิทธิ์ แสงทับ)

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน