นักวิชาการอิสระ แนะวิธีดับไฟให้ทับลาน อย่าปล่อยให้ยืดเยื้อ ชี้ใครบุกรุกต้องเพิกถอน ใครอยู่ก่อนต้องให้สิทธิ์
วรา จันทร์มณี นักวิชาการอิสระ โพสต์เฟซบุ๊กให้ความเห็นเรื่อง ดับไฟให้ทับลาน อย่าปล่อยให้ปัญหายืดเยื้อไปมากกว่านี้ ความล่าช้าคือความไม่เป็นธรรม ระบุข้อความว่า การดับไฟให้ทับลาน คือการให้ข้อเท็จจริงกับสังคม และแก้ไขไปตามข้อเท็จจริงนั้น แน่นอนว่าใครบุกรุกหรือเข้าไปอยู่โดยผิดกฏหมายก็ต้องเพิกถอน และใครอยู่มาก่อนก็ต้องให้สิทธิเขา
ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจร่วมกันก่อนว่าปัญหาอุทยานแห่งชาติทับลาน ซึ่งอยู่ในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ 4 อำเภอในจังหวัดนครราชสีมา คือ ปักธงชัย เสิงสาง ครบุรี และวังน้ำเขียว และ 1 อำเภอในจังหวัดปราจีนบุรี คืออำเภอนาดี เริ่มต้นเมื่อปี 2524 ซึ่งกรมป่าไม้นำพื้นที่ชุมชนและป่าเสื่อมโทรมจากการสัมปทานทำไม้หวงห้ามแก่เอกชน มากำหนดเป็นเขตอุทยานแห่งชาติโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา
ซึ่งขัดต่อมาตรา 6 พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 การดำเนินการครั้งนั้นไม่ได้สำรวจรังวัดพื้นที่จริง จนเกิดปัญหาทำให้การประกาศเขตอุทยานแห่งชาติทับลานทับซ้อนกับที่ทำกินของชาวบ้านซึ่งอยู่อาศัยมาแต่เดิม
พอปี 2533 กอ.รมน.ภาค 2 ได้เสนอให้กรมป่าไม้แก้ไขปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ซึ่งกรมป่าไม้ยอมรับว่ามีข้อผิดพลาดจริง และมีคำสั่งให้แก้ไขปรับปรุงแนวเขตเมื่อปี 2534 จนคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อ 22 เมษายน 2540 ยืนยันแก้ปัญหาโดยการปรับปรุงแนวเขต ซึ่งหน่วยราชการ ชุมชน และชาวบ้านในพื้นที่ ได้ร่วมกันสำรวจรังวัด ทำแผนที่ และฝังหลักเขตร่วมกัน จนเกิดเส้นแนวเขตปี 2543
ปัญหายืดเยื้อมาจนเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2566 คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ได้มีมติเห็นชอบแนวทางการใช้เส้นปรับปรุงการสำรวจแนวเขต ปี 2543 มาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) พื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน และคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ เมื่อ 14 มีนาคม 2566 เรื่องดำเนินมาจนล่าสุดวันที่ 17 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร ได้มีการพิจารณาเร่งด่วนร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ผลการประชุมเห็นไปในแนวทางเดียวกันคือใช้แนวเส้นปี 2543 เพื่อแก้ไขปัญหาให้เป็นที่ยุติ (ยังไม่ได้มีมติเห็นชอบ)
จะเห็นได้ว่าในขณะนี้หน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องส่วนใหญ่ต่างยอมรับแนวเส้นเขตปี 2543 ซึ่งยังสอดคล้องกับข้อตกลงที่รัฐบาลไทยและกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ทำไว้กับศูนย์มรดกโลก (UNESCO World Heritage Centre) เมื่อปี 2548 ในการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติผืนป่าดงพญาเย็น – เขาใหญ่ ที่จะไม่ละเลยเรื่องสิทธิและการมีส่วนร่วมของชุมชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียซึ่งอยู่อาศัยในแหล่งมรดกโลก
ปัญหาเรื่องที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติทับลานเกิดจากความบกพร่องในการจัดการของรัฐเป็นหลัก ไม่ว่าจะขาดความต่อเนื่องในนโยบาย ขาดความจริงจังในการแก้ปัญหา และมีการผูกขาดอำนาจในการบริหารจัดการอยู่กับหน่วยงานหรือคณะกรรมการเพียงชุดเดียว ฯ
จนเกิดปัญหาตกค้างสะสมและบานปลาย แต่ในวันนี้ถึงเวลาที่จะต้องแก้ไขเพื่อสร้างความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย เพื่อให้มีระบบธรรมาภิบาลในการจัดการทรัพยากร ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม อย่างยั่งยืน โดยไม่หมกเม็ด อีกทั้งขจัดปัญหาข้อขัดแย้งระหว่างหน่วยงานรัฐด้วยกัน และหน่วยงานรัฐกับประชาชน ซึ่งแนวทางการแก้ไขปัญหาน่าจะประกอบด้วย
1. กันพื้นที่ที่ประชาชนอยู่อาศัยมาก่อนออกจากเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ ป่า และพันธุ์พืช และกรมป่าไม้ ส่งมอบพื้นที่ให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ดำเนินการจัดที่ดินให้ประชาชนอยู่อาศัยทำกินตามแนวทาง คทช. หรือตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดิน เพื่อเกษตรกรรม แล้วแต่กรณี
2. ดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด
3. ผนวกพื้นที่ป่าอุดมสมบูรณ์ประมาณ 110,000 ไร่ เข้ามา
4. เร่งพิสูจน์สิทธิในพื้นที่ที่ยังมีความขัดแย้ง
อนึ่ง บทเรียนของสังคมไทยจากการรณรงค์ #saveทับลาน ที่ผ่านมา คือ การไม่เสนอข้อเท็จจริงความเป็นมาของปัญหาอย่างครบถ้วนรอบด้าน จนประชาชนจำนวนมากเกิดความหวั่นวิตกว่าจะมีการ ‘เฉือนป่า’ ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดการเข้าใจผิดแล้ว ยังสร้างความขัดแย้งในสังคม ไม่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่แท้จริง
โดยสิ่งที่สังคมควรทราบคือ นอกจากเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ยังมีประชาชนที่อยู่ร่วมกับป่าและรอการแก้ไขปัญหาอีกอย่างน้อย 4,200 ชุมชน ครอบครัวจำนวนมากไม่มีสิ่งสาธารณูปโภคเท่าเที่ยมกับคนทั่วไป ไม่มีไฟฟ้าใช้ ไม่มีความคล่องตัวในการดำเนินชีวิต เหล่านี้ไม่ใช่ความผิดของเขา
แต่เกิดจากความบกพร่องในการจัดการของรัฐ แน่นอนไม่มีใครอยากเห็นการทำลายป่า เราเพียงต้องการเห็นความเป็นธรรม และรัฐต้องเร่งสะสางปัญหาที่สะสมมาอย่างยาวนานอันเป็นอีกต้นตอของความเหลื่อมล้ำในประเทศอย่างมีธรรมาภิบาล
ในเรื่องธรรมาภิบาล มีข้อสังเกตอีกประการ โดยทราบข่าวว่าปัจจุบันมีการร่างระเบียบกรมอุทยาน สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่าด้วยการอยู่อาศัยหรือทำกินในเขตอุทยานแห่งชาติ ซึ่งสังคมไม่ทราบเลยว่าร่างระเบียบนั้นมีรายละเอียดอย่างไรบ้าง มีข้อห้าม ข้อบังคับ หรือลักษณะควบคุม ริดรอนสิทธิประชาชน และเพิ่มอำนาจให้เจ้าหน้าที่กรมอุทยาน สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มากน้อยแค่ไหน
อย่างไร มีความเป็นธรรมต่อประชาชนที่อยู่อาศัยหรือทำกินในเขตอุทยานแห่งชาติหรือไม่ จึงสมควรอย่างยิ่งว่าหากมีการร่างระเบียบนี้จริง ควรให้ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการพิจารณา เพื่อให้เกิดความมั่นใจเรื่องความเหมาะสมเป็นธรรม