โครงการ SPAR6C เปิดตัว 4 ผู้แทนเยาวชนไทยร่วมงานประชุมเวที COP29 หนุนคลื่นลูกใหม่หาแนวทางลดโลกเดือด

การประชุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 29 (COP 29) ณ กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน ใกล้เข้ามาทุกขณะ โดยกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในฐานะหน่วยงานหลักนอกจากกำลังอยู่ในกระบวนการเตรียมความพร้อมหารืออย่างเข้มข้นแล้ว ยังได้คัดเลือกและเปิดตัวผู้แทนเยาวชนไทยที่ผ่านการคัดเลือกโครงการ Climate Youth Negotiator Program จะไปเข้าร่วมเวทีประชุมระดับโลกที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 11-22 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้

ทั้งนี้การประชุมภาคี (COP) คือกลุ่มประเทศที่ได้ลงนามในกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change หรือ UNFCCC) ซึ่งรวบรวมไว้ในปีพ.. 2535 โดยให้คํามั่นว่า จะดําเนินงานร่วมกันเพื่อรักษาเสถียรภาพของก๊าซเรือนกระจก ตั้งแต่นั้นมา ภาคีประเทศต่าง ๆ รวมทั้งประเทศไทยได้ประชุมกันเกือบทุกปี

สำหรับปีนี้ไทยส่งผู้แทนเยาวชนไทยทั้งหมด 16 คนเข้าร่วมเวที COP 29 นับว่าเป็นจำนวนมากที่สุดตั้งแต่เคยส่งเยาวชนเข้าร่วมประชุมมา โดยมีหน่วยงานต่าง ๆ ให้ความสนับสนุนประเทศไทยส่งผู้แทนเยาวชนเข้าร่วมเปิดประสบการณ์ในเวทีนานาชาติครั้งนี้ ทั้งจากกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม โครงการส่งเสริมการเตรียมความพร้อมสำหรับการดำเนินความร่วมมือรัฐภาคีตามข้อ 6 ของความตกลงปารีส (Supporting Preparedness for Article 6 Cooperation หรือ SPAR6C) องค์กรยูนิเซฟ องค์กรพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme) และ Youth Negotiators Academy (YNA) และหน่วยงานและองค์กรอื่น ๆ ทั้งในและระหว่างประเทศ

ทั้งนี้โครงการ SPAR6C สนับสนุนเยาวชนที่กำลังศึกษาระดับชั้นปริญญาตรีและปริญญาโททั้งหมด 4 คน คิดเป็นหนึ่งในสี่ ของผู้แทนเยาวชนไทยที่จะไปเข้าร่วมเวทีการประชุมครั้งนี้ ได้แก่ นายพลภคินทร์ พฤฒิวงศ์วาณิช นักศึกษาระดับชั้นปริญญาโท คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นางสาวร่มฉัตร พ่วงฉ่ำ นักศึกษาระดับชั้นปริญญาโท คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี นายกลย์ธัช ไพบูลย์นุกูลกิจ นิสิตระดับชั้นปริญญาโท คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายจิระภัทรศรีทะวงษ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นนับเป็นครั้งแรกของเยาวชนทั้งสี่ ที่จะได้มีโอกาสเปิดประสบการณ์ในเวทีการประชุมระดับโลกครั้งนี้ด้วย

และเมื่อเร็ว ๆ นี้ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ได้จัดประชุม เตรียมความพร้อมผู้แทนเยาวชนไทยเพื่อเข้าร่วมกิจกรรมคู่ขนานในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 29 (COP 29) โดยมี ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ให้เกียรติกล่าวต้อนรับ และให้ข้อเสนอแนะ พร้อมกับนายปวิช เกศววงศ์ รองอธิบดี

วัตถุประสงค์ของ และเป้าหมายของการส่งผู้แทนเยาวชนไทยเข้าร่วมประชุมเวที COP 29 เพื่อส่งเสริมบทบาทของเยาวชนไทย ในเวทีระดับโลกด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเป็นการสานพลังเครือข่ายเยาวชนในเวทีนานาชาติ และเป็นพลังเสียงสะท้อน สู่การขับเคลื่อนแก้ปัญหาวิกฤติการณ์โลกเดือด บทบาทพลังเยาวชนมีความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับชุมชนไปสู่เวทีนานาชาติ มีการระดมความคิดเห็นเพื่อนำไปสู่ข้อเสนอเชิงนโยบายและข้อเสนออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อยกระดับการแก้ไขวิกฤติโลกเดือนในเวทีประชาคมโลกด้วยดร.พิรุณ กล่าว

ปฏิเสธไม่ได้ว่า คนรุ่นใหม่คือกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องพัฒนาทักษะสีเขียวที่จำเป็น เพื่อเตรียมเยาวชนให้พร้อมรับมือกับสภาพอากาศที่จะต้องเผชิญในอีก 20-30 ปีข้างหน้า ช่วยกันแก้ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดของโลกของเรา

พลภคินทร์ นศ..โท คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าการเข้าร่วมประชุม COP29 จะช่วยให้ได้รับประสบการณ์จากเวทีนานาชาติ ที่จะเป็นประโยชน์กับงานวิจัยวิทยานิพนธ์ของตนเองซึ่งมีหัวข้อเกี่ยวกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในสาขาการพัฒนาที่ยั่งยืนและเศรษฐศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อเข้าใจการตลาดคาร์บอนเครดิตให้มากขึ้นและสร้างสมดุลด้านต้นทุนและกำไรเกี่ยวกับคาร์บอนได้อย่างครบถ้วนทั้งเชิงลึกและเชิงกว้าง

เช่นเดียวกับร่มฉัตร พ่วงฉ่ำ ซึ่งกำลังทำวิทยานิพนธ์ในหัวข้อเกี่ยวกับแนวคิดและหลักการ 3Rs คือลดการใช้ นำกลับมาใช้ใหม่และ นำมาใช้ซ้ำ เพื่อการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า สามารถช่วยลดปริมาณขยะให้น้อยลง การทำวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาเครื่องมือเพื่อประเมินก๊าซคาร์บอน เครดิต เพื่อภาคการจัดการขยะ ว่าที่วิศวกรรมศาสตร มหาบัณฑิตเชื่อว่าเครื่องมือเหล่านี้จะสามารถสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนเชิงประจักษ์และช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ความตั้งใจคืออยากพัฒนาระบบปฏิบัติการแบบเปิดเพื่อให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ เพื่อจะได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับประโยชน์ที่จับต้องได้จากการนำนโยบายไปปฏิบัติใช้และช่วยให้เกิดความโปร่งใส่ในการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน

กลย์ธัช ไพบูลย์นุกูลกิจ แม้จะได้เข้าร่วมเวที COP 29 เป็นครั้งแรก แต่มีประสบการณ์มากมายในเวทีเยาวชนนานาชาติ หนึ่งในนั้นคือ การเข้าร่วมเวที Asia Environment Forum ครั้งที่ 20 จัดโดยมูลนิธิเอเชียยุโรป (Asia-Europe Foundation)

ในฐานะตัวแทนองค์กรสตาร์ทอัพระยะเริ่มต้นของตนซึ่งพัฒนาเทคโนโลยี ด้านการก่อสร้าง พลังงาน การผลิต และ การเงิน เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์พัฒนานวัตกรรมด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน ในหัวข้อ ‘Empowering Innovation in Asia & Europe – SMEs at the Heart of Circular Transition’ ที่ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม

ด้านจิระภัทร นักศึกษาคณะวิศวกรรมชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยขอนแก่น น้องเล็กระดับปริญญาตรี แต่มีประสบการณ์ตรงกับการเป็นตัวแทนเยาวชนไทยเข้าร่วมการประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย (Thailand Climate Action Conference หรือ TCAC) ครั้งล่าสุดที่จัดขึ้นเมื่อเตือนตุลาคม พ..2567 ที่ผ่านมา จิระภัทรเป็นตัวแทนเยาวชนร่วมอภิปรายในเวทีเยาวชนหัวข้อ Climate Action We Want และยังเป็นผู้บริหารของชมรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ตนกำลังศึกษาด้วย

สำหรับโครงการสปาร์ค “SPAR6C” เป็นโครงการที่ได้รับทุนสนับสนุนจากกระทรวงเศรษฐกิจและการดําเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ ประเทศเยอรมนี ผ่านแผนงานปกป้องสภาพ ภูมิอากาศระดับสากล (IKI Initiative) เพื่อให้การสนับสนุน 4 ประเทศ ประกอบด้วย แซมเบีย โคลัมเบีย ปากีสถาน และประเทศไทย

ในการเตรียมความพร้อมและขับเคลื่อนการดําเนินงานภายใต้ข้อ 6 ของความตกลงปารีส เพื่อนําไปสู่การพัฒนาตลาดคาร์บอนที่เป็นที่ยอมรับทั้งในระดับสากลและประเทศไทย มีระยะเวลาดําเนินการ 5 ปี โดย สถาบันเพื่อการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมโลก (Global Green Growth Institute หรือ GGGI) ให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคกับแต่ละประเทศ เพื่อวางแผนการทํางานลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งในระยะกลางและระยะยาว

โครงการสปาร์คในประเทศไทยดําเนินการภายใต้ความร่วมมือของกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) เพื่อขับเคลื่อนกลไกข้อ 6 ของความตกลงปารีสไปปฏิบัติใช้ และรายงานผลของการทำงานกลับไปยังชุมชนนักปฏิบัติสําหรับกลไกข้อ 6 ไปสู่การปฏิบัติใช้ในแต่ละประเทศหรือ Community of Practice for Article 6 Implementing Countries (CoP-ASIC) ซึ่งเป็นเวทีสําหรับแลกเปลี่ยนความรู้สําหรับทั้งภาครัฐ เอกชนและวิชาการต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน