กรมที่ดิน ชี้แจงผลการรังวัดที่ดินเขากระโดง ยืนยัน ดำเนินการครบถ้วนถูกต้อง ตามคำพิพากษาศาลปกครอง และร่วมตรวจสอบแนวเขตที่ดิน กับ รฟท. ตามกฎหมายทุกขั้นตอน
ตามที่ ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาให้อธิบดีกรมที่ดินมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามความในมาตรา 61 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน พร้อมทั้งตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับแนวทางหรือวิธีการดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษา โดยให้การรถไฟฯ (ผู้ฟ้องคดี) ร่วมกับคณะกรรมการสอบสวนฯ ทำการตรวจสอบแนวเขตที่ดินบริเวณเขากระโดง เพื่อหาแนวเขตที่ดินที่เป็นของการรถไฟฯ
กรมที่ดิน ได้มีคำสั่งที่ 1195 – 1196/2566 ลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2566 ตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามความในมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน เป็นการดำเนินการตามคำพิพากษาศาลปกครองกลาง โดยคณะกรรมการสอบสวนฯ ตาม ม.61 ได้กำหนดกรอบแนวทางในการรังวัดเพื่อตรวจสอบหาแนวทางเขตที่ดินของทางรถไฟแห่งประเทศไทยบริเวณเขากระโดง ในการประชุมครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2567
โดยที่ประชุมได้ข้อยุติว่าการดำเนินการรังวัดทำแผนที่ดังกล่าว กรมที่ดินต้องถือปฏิบัติตามระเบียบกรมที่ดิน ว่าด้วยการรับคำขอรังวัด การรังวัดและการเรียกค่าใช้จ่าย ในการรังวัดเฉพาะราย พ.ศ.2567 ซึ่งในการนี้การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ดำเนินการยื่นคำขอรังวัดทำแผนที่บริเวณเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์กับสำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ และจะส่งข้อมูลค่าพิกัดกรอบพื้นที่บริเวณเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ให้คณะกรรมการสอบสวนภายในกรอบระยะเวลาต่อไป
ซึ่งต่อมาสำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ โดยช่างผู้ทำการรังวัดร่วมกับตัวแทนของการรถไฟฯ ได้รายงานสรุปผลการรังวัดนำชี้แนวเขตร่วมระหว่างกรมที่ดิน และการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยเป็นการรังวัดเพื่อตรวจสอบตำแหน่งขอบเขตโดยรอบและจัดทำแผนที่ทางกายภาพเพื่อประกอบ การพิจารณาผลการดำเนินการ ปรากฎดังนี้
1. การรังวัดเป็นการดำเนินการร่วมโดยตัวแทนของการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ผู้รับมอบจากการรถไฟฯ แยกเป็น 2 ชุด ชุดละ 5 คน รวม 10 คน และเจ้าหน้าที่จากกรมที่ดิน
โดยสำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ ชุดละ 4 คน รวม 8 คน โดยทั้ง 2 ฝ่าย ได้ร่วมกันทำการรังวัดชี้ตำแหน่งโดยรอบของแปลงที่ดิน ปฏิบัติการระหว่างวันที่ 2 – 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2567
2. ผลการรังวัดแนวเขตโดยรอบตามที่การรถไฟฯ นำชี้มีระยะทางรอบแปลง 11.17 กิโลเมตร คิดเป็นเนื้อที่ 4,414 ไร่ 3 งาน 19.3 ตารางวา ในพื้นที่ตามขอบเขตซึ่งการรถไฟฯ นำชี้บริเวณรอบนอก
ของแปลงที่ดินครอบคลุมตัดผ่านที่ดินของประชาชน รวมจำนวน 133 แปลง แยกเป็นโฉนดที่ดิน จำนวน 42 แปลง, น.ส. 3 ก. จำนวน 62 แปลง, น.ส. 3 จำนวน 18 แปลง, น.ส.ล. จำนวน 5 แปลง และที่ดินไม่มีหลักฐาน จำนวน 6 แปลง ในการรังวัดมีประชาชน (บริเวณรอบนอกของแปลงที่รังวัด) คัดค้านแนวเขตจำนวน 89 ราย
3. แผนที่ซึ่งได้จากการรังวัดของคณะทำงานร่วม ระหว่างการรถไฟฯ และสำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ ปรากฏว่าข้อเท็จจริงว่าเป็นการรังวัดตามการนำชี้ของผู้แทนการรถไฟฯ โดยไม่มีเอกสารหลักฐานทางกฎหมายอ้างอิงใด ๆ เพื่อประกอบการนำชี้ โดยมีราษฎรในพื้นที่และส่วนราชการคัดค้านไม่ยอมรับการนำชี้ของผู้แทนการรถไฟฯ เนื่องจากไม่มีเอกสารหลักฐานที่น่าเชื่อถือทางกฎหมายอ้างอิงในการที่จะพิสูจน์ได้ว่าแนวเขตที่ได้นำชี้จัดทำแผนที่ในครั้งนี้ตามเอกสารหลักฐานที่รถไฟฯ อ้างสิทธิ ซึ่งเมื่อคณะทำงานร่วมฯ ดำเนินการจัดทำแผนที่เสร็จเรียบร้อยแล้ว ได้มีการส่งข้อมูลการรังวัดพร้อมหลักฐานการคัดค้านของราษฎรและส่วนราชการต่างๆ ที่คัดค้านให้คณะกรรมการสอบสวนฯ ตาม ม.61 ใช้ประกอบในการพิจารณา และได้รายงานกรมที่ดินทราบ
กรมที่ดิน ขอยืนยันว่าในการดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามความในมาตรา 61 ได้ดำเนินการครบถ้วนถูกต้องตามคำพิพากษาศาลปกครอง และทำการตรวจสอบแนวเขตที่ดินบริเวณเขากระโดง เพื่อหาแนวเขตที่ดินที่เป็นของการรถไฟฯ ตามกฎหมายทุกขั้นตอนแล้ว