ก.แรงงาน ชดเชย ลูกจ้าง บริษัท ยานภัณฑ์ ปิดกิจการ กว่า 40 ลบ. เร่งตามเช็กบิลนายจ้าง กรมการจัดหางาน รีบหางานใหม่ให้ กรมพัฒนาฝีมือแรงงานเปิดฝึกอาชีพเพิ่ม

24 ม.ค. 68 – ที่กระทรวงแรงงาน นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นายอารี ไกรนรา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานมอบเงินสงเคราะห์ลูกจ้าง และเงินประกันการว่างงาน แก่ลูกจ้าง บริษัท ยานภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการถูกเลิกจ้าง โดยไม่ได้รับค่าชดเชย

โดยมี นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เรือเอกสาโรจน์ คมคาย อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) น.ส. กาญจนา พูลแก้ว รองอธิบดี กสร. นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย และประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

นายอารี กล่าวว่า จากกรณีการเลิกจ้างของ บริษัท ยานภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) ทำให้มีลูกจ้างได้รับผลกระทบถูกเลิกจ้าง โดยไม่ได้รับค่าชดเชย 859 คน ถือเป็นผู้ว่างงาน ซึ่งขณะนี้มีลูกจ้างมาขึ้นทะเบียนกรอกแบบฟอร์ม คร.7 ขอรับเงินสงเคราะห์ จากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เพียง 276 คน รวมเป็นเงิน 6,940,560 บาท ซึ่งจะมีการดำเนินการเร่งจ่ายให้ภายในวันที่ 27 มกราคม 2568

ขณะเดียวกัน ยังมีเงินอีกส่วนหนึ่งจากสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ทําเป็นเงินชดเชยกรณีว่างงาน รวมทั้งสิ้น 32,070,192.74 ล้านบาท ซึ่งจะมีการทยอยจ่ายให้ครบถ้วนตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม กรมการจัดหางาน มีข้อมูลลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างทั้งหมดแล้ว ซึ่งมีการติดต่อไปเพื่อหางานให้ ขณะนี้มีผู้ได้เข้าไปฝึกงานแล้ว 200 กว่าคน และทางกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ก็จะเปิดฝึกอาชีพให้กับลูกจ้างกลุ่มดังกล่าวนี้ด้วย

นายอารี กล่าวว่า กรณีนายจ้างที่ปิดกิจการ และเลิกจ้างแรงงานไปนั้น ทางกระทรวงแรงงาน จะต้องไปสืบเชิงลึกดูว่า มีการปิดกิจการแล้วไปเปิดกิจการใหม่ หรือมีการขายทอดตลาดไปหรือไม่ ซึ่งเป็นความผิดตามกฎหมาย ต้องดำเนินคดีอย่างถึงที่สุด แต่เบื้องต้น ตนอยากให้ลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบ เข้ามาขึ้นทะเบียนเพื่อรับเงินเยียวยากรณีว่างงาน และเงินชดเชยถูกเลิกจ้างก่อน ซึ่งกรอบเวลาการจ่ายเงินให้ลูกจ้างนั้น ก็ขึ้นอยู่กับเวลาที่ลูกจ้างมาลงทะเบียนไว้ ดังนั้น ขอให้เข้ามาลงทะเบียนโดยเร็ว ส่วนความคืบหน้าทางกฎหมายนั้น ขณะนี้มีลูกจ้างเข้าไปแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษแล้ว 815 คน อยู่ระหว่างทยอยให้การกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ

เมื่อถามถึงสาเหตุที่ลูกจ้างส่วนหนึ่งไม่มาลงทะเบียนรับเงินเยียวยาจากกองทุนประกันสังคม นายอารี กล่าวว่า ตนเข้าใจว่า ลูกจ้างบางส่วนกังวลว่า ถ้ามาลงทะเบียนรับเงินเยียวยากับกระทรวงแรงงานแล้ว จะไม่ได้รับเงินเยียวยาจากรัฐบาลที่เป็นงบประมาณกลาง

แต่ตนขอชี้แจงว่า กรณีที่เกิดขึ้นนี้อาจไม่สามารถของบกลางฯ มาเยียวยาได้ จะไม่เหมือนกับกรณีอุทกภัย วาตภัย ดังนั้น ขอย้ำว่าให้ลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบ มาลงทะเบียนรับเงินเยียวยากับกระทรวงแรงงานก่อนเพราะเป็นสิทธิตามกฎหมาย

เมื่อถามถึงยอดเงินที่ทางบริษัท ยานภัณฑ์ฯ ค้างชำระกรณีเลิกจ้าง นายอารี กล่าวว่า ขณะนี้มีตัวเลขสะสมที่ทางบริษัทฯ ค้างชำระ 228 ล้านบาท โดยกระทรวงแรงงาน จะต้องไปติดตามทวงถาม

ถามถึงสถานการณ์แนวโน้มการเลิกจ้างที่เหมือนกับกรณีนี้ มีเยอะหรือไม่ นายอารี กล่าวว่า กระทรวงแรงงานได้หารือเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่คาดว่า จะมีการลดการจ้างลดลง แล้วไปใช้เครื่องจักรยนต์แทน แต่แผนในระยะสั้น ทางสำนักงานประกันสังคม โดย “กองบริหารจัดการเงินค้างชำระ” ที่ตั้งขึ้นมา เพื่อเร่งติดตามนายจ้างไม่ส่งเงินสมทบเข้ากองทุน และวิเคราะห์ข้อมูลการจ้างงาน กำลังวิเคราะห์ตัวเลขการค้างส่งเงินสมทบประกันสังคมของนายจ้าง เพื่อประเมินแนวโน้มความเสี่ยง ซึ่งนายจ้างบางรายที่ค้างชำระ 3-4 เดือน ก็ต้องเร่งเข้าไปหารือ พูดคุยกับนายจ้าง ช่วยหาทางออก

“กระทรวงแรงงาน ไม่ได้มุ่งจะคุ้มครองลูกจ้างเพียงอย่างเดียว แต่เราคุ้มครองนายจ้างด้วยเช่นกัน ส่วนจำนวนบริษัท ที่มีความเสี่ยงจะเลิกจ้างนั้น ขณะนี้ยังไม่ชัดเจน อยู่ระหว่างวิเคราะห์ผล เนื่องจากนายจ้างบางรายค้างชำระ 3-4 เดือน แล้วก็นำมาชำระย้อนหลัง ซึ่งเป็นเพียงการค้างชำระเท่านั้น จึงต้องรอให้มีการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างชัดเจนอีกที” นายอารี กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน