NSM เปิดประสบการณ์สุดพิเศษ ถ่ายทอดสดชีวิตจริงนักวิจัยไทยจากสถานวิจัย Great Wall Station ขั้วโลกใต้ เรียนรู้รับมือภาวะยุคโลกเดือด
เมื่อวันที่ 7 ก.พ. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) หรือ NSM กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับ มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงาน ถ่ายทอดสดจากสถานีวิจัย Great Wall Station ขั้วโลกใต้ ในวานนี้ (6ก.พ.)
โดยมี ศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ นักวิจัยขั้วโลกจากมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ และอาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วย ผศ.ดร. สุจารี บุรีกุล อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคุณนิพัธ ปิ่นประดับ ผู้ช่วยนักวิจัย ภาควิชาวาริชศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา มาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์และสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชน โดยมี ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการ NSM และ ดร.กรรณิการ์ เฉิน รองผู้อำนวยการ NSM ร่วมรับฟังการถ่ายทอดสด พร้อมกับนักเรียนและคุณครูจากโรงเรียนคลองห้า (พฤกษชัฏฯ) และโรงเรียนชุมชนวัดหัตถสารเกษตร จ.ปทุมธานี ที่ห้องการแสดงทางวิทยาศาสตร์ พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า อพวช. ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี นอกจากนี้ ยังมีนักเรียนที่เข้าร่วมฟังการถ่ายทอดผ่านระบบ Zoom ได้แก่ King’s College International School, Kensington International School, รร.เซนต์คาเบรียล กรุงเทพฯ , รร.วิทยาศาสตร์จุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย ปทุมธานี, รร.เตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ปทุมธานี, รร.เฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา จ.ปทุมธานี และรร.สาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ จำนวนกว่า 477 คน
ผศ.ดร.รวิน กล่าวว่า “NSM ให้ความสำคัญกับการสร้างแรงบันดาลใจและความตระหนักรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม ผ่านการสร้างประสบการณ์สุดล้ำแห่งวิทยาศาสตร์ จึงจัดโครงการถ่ายทอดสดจากขั้วโลกใต้ ‘Extreme Livestream from Extreme Lands’ ขึ้น เพื่อให้เยาวชนได้รับประสบการณ์ที่น้อยคนจะได้พบ พร้อมได้พูดคุยกับนักวิจัยขั้วโลกตัวจริง นับเป็นกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้นอกห้องเรียนที่มีคุณค่าและได้ตระหนักถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ในหลากหลายมิติ พร้อมเป็นแรงผลักดันให้เยาวชนได้เกิดแรงบันดาลใจก้าวไปสู่เส้นทางของนักวิทยาศาสตร์ และนักวิจัยต่อไปในอนาคต โดยมี ศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ และอาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในนักวิจัยไทยในโครงการวิจัยขั้วโลกตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ภายใต้มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ เป็นผู้มาถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์เพื่อปลุกแรงบันดาลใจให้น้องๆ ในครั้งนี้
ด้าน ศ.ดร.สุชนา ได้ถ่ายทอดประสบการณ์ จาก สถานีวิจัย Great Wall Station ที่ขั้วโลกใต้ว่า “ประเทศไทยได้เข้าร่วมการศึกษาวิจัยวิทยาศาสตร์ขั้วโลกกับสาธารณรัฐประชาชนจีน มาตั้งแต่ปี 2536 ตามพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งความร่วมมือดังกล่าว ดำเนินการภายใต้บันทึกความเข้าใจเรื่องความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ขั้วโลก ระหว่างสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กับหน่วยงานขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ของจีน (Chinese Arctic and Antarctic Administration : CAA) และในปี 2568 ตนร่วมกับนักวิจัยไทยอีก 2 ท่าน ได้ร่วมเดินทางกับคณะสำรวจทวีปแอนตาร์กติกแห่งสาธารณะรัฐประชาชนจีน คณะที่ 41 ครั้งนี้
ในวันนี้ถือเป็นโอกาสพิเศษที่ได้มาเล่าประสบการณ์การทำงานและการใช้ชีวิตที่สถานีวิจัย Great Wall Station ซึ่งเป็นสถานีวิจัยนานาชาติของประเทศจีนในขั้วโลกใต้ให้กับเยาวชนฟัง โดยเยาวชนได้เรียนรู้ถึงความหลากหลายทางชีวภาพและวิถีชีวิตของสัตว์ต่าง ๆ ในขั้วโลกใต้ เช่น แมวน้ำช้าง และเพนกวิน ซึ่งสัตว์เหล่านี้ต้องปรับตัวในสภาพแวดล้อมที่โหดร้ายในขั้วโลกใต้ และต่อสู้กับภาวะโลกร้อนที่ทำให้มวลน้ำแข็งละลาย นอกจากนี้ เด็ก ๆ ยังได้เห็นตัวอย่างการศึกษาวิจัยในขั้วโลกใต้ เช่น ตัวอย่าง ‘ขนเพนกวิน’ ที่นักวิจัยนำมาเก็บเพื่อศึกษามลพิษในพื้นที่ โดยสิ่งที่ได้จากการศึกษาวิจัยเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ในการต่อสู้กับภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นปัญหาที่โลกกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ และย้ำเตือนให้ทุกคนได้ตระหนักและสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น”
ดร.กรรณิการ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “กิจกรรมครั้งนี้ จัดขึ้นพิเศษในวาระครบรอบ 50 ปี ของ การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-จีน ความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นหนึ่งในเสาหลักที่สำคัญของความสัมพันธ์ไทย-จีน การที่นักวิจัยไทยได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการวิจัยขั้วโลกใต้กับจีน แสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งของความร่วมมือนี้ และเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาศักยภาพของนักวิทยาศาสตร์ไทย กิจกรรมถ่ายทอดสดจากขั้วโลกใต้ในครั้งนี้ เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ชัดเจนของความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ระหว่างไทย-จีน ที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนไทย และส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ”