หลังจากเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องกำหนดมาตรฐานสินค้า : ปลาร้าตามพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 โดยระบุว่าด้วยคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรเห็นสมควรกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่องปลาร้าเป็นมาตรฐานทั่วไปตาม พ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าเกษตร 2551 ในเรื่องรสชาติ กลิ่น สี และความสะอาด แต่ปรากฏว่ามีผู้ค้าในจ.ร้อยเอ็ด บอกว่า ปลาร้าที่ถูกต้องปลอดภัยต้องมีกลิ่นจำเพาะ และต้องมีหนอนบนปากโอ่ง ซึ่งเป็นการทำตามกรรมวิธีที่ถูกต้องปลอดภัย และยังผ่านมาตรฐานจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) อีกด้วยนั้น

เมื่อวันที่ 19 เม.ย. นายสง่า ดามาพงษ์ นักโภชนาการและที่ปรึกษากรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ปลาร้าที่ถูกมาตรฐานและเป็นไปตามความสุขลักษณะ ต้องไม่มีหนอน เพราะการพบหนอนในอาหารทุกชนิด รวมทั้งปลาร้า แสดงว่า ปล่อยให้แมลงวันไปวางไข่ หมายถึงไม่สะอาด ผิดหลักมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารหรือ มกอช. และเสี่ยงต่อสุขภาพ ต่อระบบทางเดินอาหารได้ อย่างไรก็ตาม ตนขอฝากคำถามถึงผู้ที่เกี่ยวข้องว่า เมื่อมีประกาศดังกล่าวในราชกิจจานุเบกษาแล้ว หมายความว่า ผู้ผลิตปลาร้าทุกรายจะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนของมกอช. ด้วยหรือไม่ หากไม่ปฏิบัติจะมีโทษอย่างไร ขณะเดียวกันกรณีคนทำกินเองที่บ้านก็ต้องละเว้นหรือไม่อย่างไร เพราะเชื่อว่าหลายคนยังสงสัยอยู่

“นอกจากนี้ อยากให้มีการกำหนดมาตรฐานปลาร้าสำเร็จรูปอื่นๆด้วย เพราะในชีวิตประจำวันเราคงไม่กินปลาร้าในส้มตำเท่านั้น แต่ยังมีปลาร้าบอง ปลาร้าสับ ฯลฯ จึงควรมีมาตรฐานของปลาร้าที่แปรรูปแล้วด้วยหรือไม่ แต่สิ่งสำคัญขอย้ำว่าตามหลักสุขลักษณะที่ดีคือ ต้องสะอาด ปรุงสุก นี่คือสิ่งสำคัญ ดังนั้น หากมีหนอนก็ถือว่าไม่ถูกสุขลักษณะ” นายสง่า กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน