คอลัมน์ พันธุ์แท้พระเครื่อง
ธรรมชาติหลวงปู่ทวด ปี 2497

นับตั้งแต่พระอาจารย์ทิม แห่งวัดช้างให้ ได้สร้างสุดยอดแห่งรูปเคารพในรูปแบบของพระเนื้อว่านเป็น องค์หลวงปู่ทวด? ตั้งแต่ปีพ.ศ.2497 อันลือลั่น

ตั้งแต่บัดนั้นจนบัดนี้สาธุชนทั้งชาวไทยและต่างประเทศยังไม่ลดละความพยายามพากันเสาะแสวงหาเพื่อบูชาติดตัวพร้อมอาราธนาบทพุทธคุณ นะโม โพธิสัตโต อาคันติมายะ อิติภควา? เพื่อให้แคล้วคลาดจากภยันตรายและเจริญด้วยสิริสวัสดิ์ทั้งหลายทั้งปวง

มีข้อน่าสังเกตเกี่ยวกับธรรมชาติในองค์หลวงปู่ทวดเนื้อว่านที่สร้างขึ้นในปีพ.ศ.2497 ที่อาจจะเป็นข้อมูลในการพิจารณาได้หลายประการ ซึ่งขออนุญาตนำเสนอไว้เป็นเบื้องต้นดังต่อไปนี้
1
– การสร้างพระเนื้อว่านชุดนี้ได้รับความร่วมมือจากฝ่ายสงฆ์และฆราวาสอย่างกว้างขวาง เช่น ท่านอาจารย์นอง วัดทรายขาว, คุณอนันต์ คณานุรักษ์ คหบดีเจ้าของเหมืองทางใต้ ส่งผลให้การดำเนินงานราบรื่น สามารถสร้างพระพิมพ์ได้ถึง 65,000 องค์ จากที่ตั้งเป้าไว้ตามจำนวนพระธรรมขันธ์ 84,000 องค์

– ในระยะแรกมีความเป็นห่วงถึงความคงทนของเนื้อพระ เนื่องจากเป็นการผสมโดยมีดินกากยายักษ์สีดำเป็นมวลสารหลัก ผสมกับว่านประเภทต่างๆ แต่ปรากฏให้เห็นในปัจจุบันว่า องค์พระรูปหลวงปู่ทวดมีความคงทนแม้จะหดตัวตามอายุธรรมชาติเล็กน้อย แต่ไม่มีการปริแตก ระเบิด หักเปราะ หรือแม้แต่ถูกแมลงที่เรียกว่า ?ตัวกินพระ? กัดกินก็ไม่มี (ขนาดพระสมเด็จฯ ยังมีแมลงดังกล่าวกัดกินตัวองค์พระ)

– กลิ่นของหลวงปู่ทวดเนื้อว่านจะไม่มีความฉุนของน้ำมันตั้งอิ้ว หรือว่านยา นอกจากองค์ที่มีผู้บูชาประพรมน้ำอบน้ำหอม ก็จะมีกลิ่นดอกมะลิตามปกติ นอกจากนี้ยังมีน้ำหนักถ่วงมือไม่เบาโหวงเหมือนพระที่ทำขึ้นใหม่

– จุดประสงค์แรกเริ่มจะสร้างขึ้นสามพิมพ์คือ พิมพ์ใหญ่ พิมพ์กลาง และพิมพ์เล็ก แต่เนื่องจากต้องกดพิมพ์เป็นจำนวนมากโดยใช้ผู้กดมากมายหลายคน จึงขยายแม่พิมพ์ออกไป มีทั้งพิมพ์กลักไม้ขีด พิมพ์กรรมการ พิมพ์พระรอด พิมพ์ต้อ และพิมพ์อื่นๆ

– เนื่องจากแม่พิมพ์สร้างจาก ?ขี้ครั่งพุทรา? มีลักษณะเหนียวเป็นยางสีดำแดง แต่เมื่อกดมากๆ จะเกิดรอยปริในแม่พิมพ์ ส่งผลให้หลวงปู่ทวดในพิมพ์เดียวกันมีตำหนิอันเนื่องจากรอยแตกแยกออกมาอีกหลายพิมพ์ แต่ถ้าดูภาพรวมเป็นก็สามารถพิจารณาได้ไม่ยากนัก

– พิมพ์ใหญ่จะแยกเป็น หูขีด เรียกพิมพ์ A พิมพ์ลึก เรียกพิมพ์ B พิมพ์ไหล่จุด เรียกพิมพ์ C แต่ละพิมพ์เนื่องจากพิมพ์ที่ทำจากครั่งมีรอยปริทำให้แยกออกเพิ่มเติมอีก ส่วน พิมพ์ใหญ่กรรมการ? เนื้อจะออกเป็นสีดำกว่าพิมพ์อื่น เนื่องจากผสมดินกากยายักษ์มาก และจะมีความลึกชัดกว่าพิมพ์อื่น ให้สังเกตความลึกจากรอยพับจีวรบนท่อนแขนซ้ายขององค์พระ

– สีของหลวงปู่ทวดเนื้อว่านปี 2497 นั้นมีหลายสี หากเป็นกรรมการจะออกสีดำ หากเป็นพิมพ์ทั่วไปจะออกสีเทานวล แต่จะพบเห็นมีสีแดงนวลบ้างเข้าใจว่าเป็นเพราะผสมว่านสบู่เลือดลงไปมาก

ใต้ฐาน (ก้น) จะมีรอยก้านไม้ไผ่เสียบเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าเล็กๆ และหดตัวลง แต่บางองค์อาจใช้ก้านธูปเสียบขึ้นมาจากแม่พิมพ์ ทำให้รูมีลักษณะกลม หรือบางองค์ได้รับการตกแต่งจนไม่เห็นรู ส่วนบางองค์ผู้กดใช้นิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้บีบสองข้างด้านล่างบริเวณฐานบัวก็จะไม่มีรู แต่จะเห็นรอยบีบเล็กน้อย

– มวลสารที่ส่องจะพบเห็นเม็ดคล้ายอิฐแดงบดละเอียด มีผู้สันนิษฐานว่าอาจเป็นเศษพระซุ้มกอเม็ดสีขาวบดละเอียด มีผู้สันนิษฐานว่าอาจเป็นเศษสมเด็จหลวงปู่ภู และเม็ดแร่สีดำทอง เรียก แร่กิมเซียว เข้าใจว่าคุณอนันต์ คณานุรักษ์ นำมาจากเหมือง ผสมเป็นมวลสาร บางองค์เมื่อนำออกจากแม่พิมพ์ก็จะใช้นิ้วกดเม็ดแร่กิมเซียวที่ด้านหลังองค์พระ แต่ไม่พบมากในบรรดาพิมพ์ใหญ่

– ให้ส่องดูริมของด้านหน้าองค์พระ มักจะพบกรอบของแม่พิมพ์อยู่บริเวณใดบริเวณหนึ่ง

– ด้านหลังมักเห็นเป็นรอยนิ้วมือ มีทั้งหลังเรียบและหลังอูม

– ฐานบัวจงใจแกะแม่พิมพ์เป็นนูนสูงมีมิติ เกือบเป็นกลีบบัวห้าเหลี่ยม ส่วนบัวล่างแกะได้ไม่ชัดนัก มองเผินๆ จะเป็นบัวสี่เหลี่ยมจัตุรัส

– ให้สังเกตจุดสำคัญที่ปรากฏเกือบทุกพิมพ์และเกือบทุกองค์ อันได้แก่ ใบหูข้างซ้ายของหลวงปู่จะติดกับหน้ามากกว่าหูข้างขวา ทำให้ดูเกือบไม่เห็นใบหูข้างซ้าย, บริเวณสุดชายผ้าจีวรที่คลุมแขนซ้ายต่อกับมือเนื้อจะเห็นเป็นรอยผ้าจีวรย้วย, บริเวณสุดชายผ้าบริเวณขาขวาจะเห็นรอยต่อมองดูไม่เป็นสีหรือเนื้อกลืนกันกับเนื้อแข้ง, พื้นผนังจากขอบนอกสุดถึงองค์พระมักจะสโลปเป็นแอ่งกระทะไม่ตัดตรง
2
พระหลวงปู่ทวดเนื้อว่านปีพ.ศ.2497 ได้ชื่อว่าเป็นสุดยอดของพระเครื่องที่มีผู้ต้องการมากที่สุดประเภทหนึ่งของเมืองไทย แต่ด้วยการแยกออกเป็นหลายแม่พิมพ์ทำให้ต้องพึ่งพาความชำนาญอย่างมาก ดังนั้น การเสาะหาบูชาจึงต้องรอบคอบและเข้าใจถึงสภาพมวลสารขององค์พระและแม่พิมพ์ ซึ่งแยกย่อยไปอย่างหลากหลายจึงจะได้ของแท้มาครอบครองสมดังใจปรารถนาครับผม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน