ตะกรุดหนังหน้าผากเสือ หลวงพ่อหว่าง วัดเทียนถวาย

คอลัมน์ ชมรมพระเครื่อง

โดย แทน ท่าพระจันทร์

ตะกรุดหนังหน้าผากเสือหลวงพ่อหว่าง วัดเทียนถวาย – สวัสดีครับท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน วันนี้เรามาคุยกันถึงเครื่องรางของขลังชนิดหนึ่ง คือ ตะกรุดหนังหน้าผากเสือ คนโบราณจะนิยมตะกรุดหนังหน้าผากเสือมาก แต่ก็หายากทั้งวัสดุที่นำมาใช้ทำตะกรุด และพระคณาจารย์ที่ทำตะกรุดหนังหน้าผากเสือก็มีน้อยรูปเช่นกันครับ

ตะกรุดหนังหน้าผากเสือรุ่นเก่าๆ ของพระอาจารย์ที่โด่งดังมากๆ ก็คือ พระธรรมานุสารี (สว่าง) วัดเทียนถวาย ปทุมธานี พระพิมลธรรม (นาค) วัดอรุณฯ กทม. พระวิเชียรโมลี (ปลั่ง) วัดบรมธาตุฯ กำแพงเพชร เป็นต้น

ตะกรุดหนังหน้าผากเสือหลวงพ่อหว่าง

ในบรรดาพระเกจิอาจารย์ที่กล่าวมาแล้ว พระธรรมานุสารี (สว่าง) นั้นอาวุโสมากที่สุด ตะกรุดของท่านก็โด่งดังมาก และหายากที่สุดเช่นกัน เนื่องจากมีจำนวนน้อยมาก ส่วนมากจะอยู่กับคนดั้งเดิมที่อยู่ในละแวกวัดเทียนถวาย

วัดเทียนถวายเป็นวัดเก่าแก่มาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี สุนทรภู่เคยพรรณนาไว้ในนิราศพระบาท ครั้งร่วมขบวนเสด็จพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ ไปนมัสการพระพุทธบาท สระบุรี เมื่อปี พ.ศ.2350 ตอนที่ผ่านวัดเทียนถวายว่า

ถึงวัดเทียนถวายท่าใหม่ข้าม

ก็รีบตามเรือที่นั่งมากลางหน

ทุ่งละลิ่วทิวเมฆเป็นหมอกมน

สะพรั่งต้นตาลโตนดอนาถใจ

เจ้าของตาลรักหวานขึ้นปีนต้น

ระวังตนตีนมือระมัดมั่น

เหมือนคบคนคำหวานรำคาญครัน

ถ้าพลั้งพลันก็เจ็บอกเหมือนตกตาล

พระธรรมานุสารี (สว่าง) เกิดเมื่อปี พ.ศ.2398 โยมบิดาชื่ออ่อน โยมมารดาชื่อทิม ที่บ้านหลังวัดเทียนถวาย พออายุพอสมควร บิดาจึงได้นำไปฝากให้เล่าเรียนหนังสืออยู่กับพระปลัดปิ่น วัดบางกระดี ต่อมาได้บรรพชาเป็นสามเณรและอยู่กับพระปลัดปิ่น จนกระทั่งอายุครบบวช จึงได้อุปสมบทที่วัดเทียนถวาย

โดยมี พระปลัดปิ่น เป็นพระอุปัชฌาย์ พระสมุห์ยัง วัดเทียนถวาย เป็นพระกรรมวาจาจารย์ เมื่ออุปสมบทแล้วก็อยู่จำพรรษาที่วัดบางกระดี 3 พรรษา จากนั้นก็เข้ามาศึกษาต่อที่วัด สระเกศ ศึกษาคันถธุระ วิปัสสนาธุระ โหราศาสตร์ และวิทยาคมต่างๆ

ต่อมาก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระสมุห์ของพระวินยานุกูลเถร (ศรี) จนกระทั่งพระวินยานุกูลเถร (ศรี) มรณภาพ ท่านจึงกลับมาอยู่ที่วัดบางกระดี จนถึงปี พ.ศ.2435 วัดเทียนถวายว่างเจ้าอาวาสลง ชาวบ้านจึงได้มาอาราธนาหลวงพ่อสว่างมาเป็นเจ้าอาวาส วัดเทียนถวาย

ปี พ.ศ.2435 เป็นเจ้าอาวาสวัดเทียนถวาย และเป็นพระอุปัชฌาย์

พ.ศ.2455 ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรให้เป็นพระครูศีลานุโลมคุณ

พ.ศ.2461 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูธรรมานุสารี และเป็นเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี

พ.ศ.2464 ได้รับพระราชทานเป็นพระราชาคณะที่ พระธรรมานุสารี

หลวงพ่อสว่างเป็นที่เคารพศรัทธาของชาวบ้านมาก และมักเรียกท่านว่า “หลวงพ่อหว่าง หรือหลวงปู่หว่าง” วัตถุมงคลของท่าน จะทำตะกรุดหนังหน้าผากเสือ และผ้าประเจียด ครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคไปพระราชวังบางปะอิน

เมื่อถึงวัดเทียนถวายได้ทรงแวะขึ้นไปนมัสการพระอุปัชฌาย์สว่าง และทรงให้พนักงานฉายพระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์กับพระอุปัชฌาย์สว่าง ในครั้งนั้นพระอุปัชฌาย์สว่างก็ได้ถวายตะกรุดหนังหน้าผากเสือแก่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วย

พระธรรมานุสารี (สว่าง) มรณภาพเมื่อปี พ.ศ.2475 สิริอายุได้ 77 ปี

ตะกรุดหนังหน้าผากเสือของหลวงพ่อหว่างในปัจจุบันนั้นหายากมากครับ และในวันนี้ผมได้นำรูปตะกรุดหนังหน้าผากเสือของหลวงพ่อหว่าง วัดเทียนถวาย จากหนังสือ ตามรอยตำนาน เครื่องรางของขลังขมังเวทย์ มาให้ชมกันครับ

ด้วยความจริงใจ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน