พระเปิม ลำพูน

คอลัมน์ ชมรมพระเครื่อง

พระเปิม ลำพูน – สวัสดีครับท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน พระเครื่องสกุลลำพูนชนิดหนึ่งที่เป็นพระสำคัญประจำกรุวัดสี่มุมเมืองของ หริภุญชัยนครก็คือ พระเปิม แห่งวัดดอนแก้ว ในปัจจุบันถ้าพูดถึงพระกรุวัดดอนแก้วก็จะนึกถึงแต่พระบาง กรุวัดดอนแก้ว แต่ในกรุนี้ก็พบพระอีกหลายพิมพ์ รวมทั้งพระเปิมด้วย

ในสมัยก่อนคนลำพูนนิยมห้อยคอกันมาก เนื่องจากพุทธคุณเด่นทางด้านอยู่ยงคงกระพันและแคล้วคลาด สมัยก่อนก็ถักลวดทองแดงหรือดีหน่อยก็เลี่ยมจับขอบห้อยคอกันเลย ปัจจุบันจึงหาพระเปิมที่สวยๆ ไม่สึกยากครับ

พระเปิม ลำพูน

ในสมัยเมื่อพระนางจามเทวีเสด็จขึ้นมาครองเมืองหริภุญชัย พระองค์ทรงสร้างวัดสำคัญประจำทิศทั้งสี่ของเมือง เป็นจตุรพุทธปราการพระอารามสำคัญทั้ง 4 ประจำจตรุทิศแห่งพระนคร เพื่อปกป้องคุ้มครองพระนครให้พัฒนาสถาพร ปราศจากภัยพิบัติ ดังนี้

อาพัทธาราม (วัดพระคง) เป็นพุทธปราการประจำฝ่ายทิศเหนือ พระกรุสำคัญ ที่พบ คือ พระคงและพระบาง

อรัญญิกรัมมการาม (วัดดอนแก้ว) เป็นพุทธปราการปกป้องฝ่ายทิศตะวันออก พบ พระกรุที่สำคัญคือพระเปิมและพระบาง ฯลฯ

มหาสัตตาราม (วัดประตูลี้) เป็นพุทธปราการคุ้มครองด้านทิศใต้ พบกรุที่สำคัญคือพระเลี่ยง ฯลฯ

มหาวนาราม (วัดมหาวัน) เป็นพุทธปราการอารักขาทางฝ่ายทิศตะวันตก พบพระกรุที่สำคัญคือพระรอด

พระอารามทั้งสี่นี้ชาวบ้านเรียกกันว่าวัดสี่มุมเมือง

พระเปิมเป็นพระที่ขุดพบที่วัดดอนแก้ว วัดนี้ตั้งอยู่ในตำบลเวียงยอง นอกกำแพงเมืองไปทางทิศตะวันออกของแม่น้ำกวง ต้องข้ามลำน้ำที่สะพานท่าสีห์พิทักษ์ ที่ตั้งของพระอารามนี้อยู่ห่างจากประตูเมืองด้านตะวันออก (ประตูท่าขุนนาง) ประมาณ 600 เมตร

ปัจจุบันเป็นวัดร้าง และเป็นที่ตั้งของร..เทศบาลเวียงยอง มีซากวัตถุโบราณปรากฏอยู่ เช่น พระพุทธรูปหินทรายปางสมาธิขัดเพชร ซึ่งชำรุดหักพัง อีกทั้งที่วัดแห่งนี้ยังพบศิลาจารึกภาษามอญอีก 2 หลัก

การขุดหาพระเครื่องวัดดอนแก้วนี้มีการขุดค้นกันมานานแล้ว ในครั้งแรกๆ ก็ไม่อาจสืบหาหลักฐานได้ ต่อมาในปีพ..2484-85 ซึ่งเป็นเวลาที่บ้านเมืองอยู่ในระหว่างสงครามอินโดจีน ประชาชนกำลังตื่นตัวขุดหาพระเครื่องกันทั่วทุกแห่งหน ก็ได้มีการขุดหาพระที่วัดดอนแก้วด้วย

การขุดครั้งนี้ได้กระทำตรงบริเวณซากพระเจดีย์เก่า ได้พระเป็นจำนวนมาก เช่น พระเปิม พระบาง พระฤๅ พระเลี่ยง พระสาม พระสิบสอง พระสิบแปด และพระกล้วย ตลอดจนพระแผงต่างๆ หลายพันองค์ ถึงกับต้องใช้ตะกร้าหาบ การขุดดำเนินติดต่อกันไปหลายเดือน ต่อมาคณะกรรมการจังหวัดต้องประกาศห้ามจึงได้เลิกขุดกันไป

ในสมัยนั้นการพบพระเปิม ซึ่งชาวบ้านที่ขุดพบก็ได้ตั้งชื่อเรียกเอาตามลักษณะที่พบ คือคำว่าเปิมเป็นคำเมืองเดิม มีความหมายว่า แป้น ป้าน หรืออวบใหญ่ การตั้งชื่อในสมัยนั้นชาวบ้านจะเรียกตามลักษณะที่พบ

เช่น พระรอด คำว่ารอดหมายถึงเล็ก พระเลี่ยง ก็คือเลี่ยม หมายถึงแหลม ต่อมาจึงเพี้ยนเป็นเลี่ยง พระคง คำว่าคงหมายถึงหนา มั่นคง แข็งแรง พระบาง มีลักษณะคล้ายพระคง แต่องค์พระบอบบางกว่า จึงเรียกว่าพระบาง เป็นต้น

พระเปิมเป็นพระกรุเก่าแก่ มีพุทธคุณดีครบทุกด้านครับ เด่นทางคงกระพันชาตรีและแคล้วคลาดครับ ในสังคมวงการพระเครื่องนั้นนิยมพระเปิมเช่นกัน และปัจจุบันเป็นพระที่หาพระแท้ๆ ยากพอสมควรครับ และผมได้นำรูปพระเปิม จากหนังสืออมตพระกรุอันล้ำค่าของไทยมาให้ชมครับ

ด้วยความจริงใจ

แทน ท่าพระจันทร์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน