นางพญาวัดเวียง

คอลัมน์ ชมรมพระเครื่อง

นางพญาวัดเวียง – สวัสดีครับท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน ในสมัยกรุงศรีอยุธยาได้มีประชาชนชาวลาวอพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร และอาศัยอยู่ในเมืองไทยอยู่หลายครั้ง หลายกลุ่ม วันนี้เราจะพูดถึงชุมชนชาวลาวกลุ่มหนึ่งที่เข้ามาตั้งรกรากถิ่นฐานอยู่ที่ บ้านเวียง ตำบลเวียง อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนคร ศรีอยุธยา ชาวลาวกลุ่มนี้อพยพมาจากนครเวียงจันทน์

นางพญาวัดเวียง

เมื่อมาตั้งถิ่นฐานบ้านช่องแล้วหมู่บ้านที่ พวกเขาอยู่ก็จึงเรียกกันว่าบ้านเวียง แล้วต่อมาก็ได้สร้างวัด โดยนิมนต์พระเถระจากฝั่งลาวมาจำพรรษาอยู่ที่วัดแห่งนี้ และเรียกกันว่า “วัดเวียงจันทน์” สืบต่อมาการเรียกชื่อก็เพี้ยนไป โดยตัดคำเรียกให้สั้นลงเหลือแต่คำว่า “วัดเวียง” เท่านั้น และเรียกกันมาจนถึงปัจจุบัน

ที่วัดเวียงนี้ก็มีพระเครื่องเก่าแก่อยู่ อย่างหนึ่ง เป็น พระเนื้อดินเผารูปทรงสามเหลี่ยม คือพระพญาวัดเวียง เท่าที่สืบค้นดูจากคนเฒ่าคนแก่ในแถบนั้น และอดีตเจ้าอาวาสวัดเวียงเอง ซึ่งท่านก็เป็นคนพื้นเพของที่นั่น ตั้งแต่ปู่ย่าตายาย ก็พอจับความได้ว่า อดีตเจ้าอาวาสซึ่งเป็นพระเถระฝ่ายลาวจากเวียงจันทน์เป็นผู้สร้างพระไว้ ประมาณราวปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา หรือช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์

เมื่อสร้างพระเสร็จแล้วก็ปลุกเสกและบรรจุ ไว้ในโอ่งขนาดใหญ่ ตั้งไว้ทั้งสี่มุมของพระอุโบสถและหน้าพระประธาน สืบต่อมาได้มีคนหยิบไปบูชา ซึ่งทางวัดก็มิได้หวงห้ามแต่ประการใด ปรากฏว่ามีผู้ได้รับประสบการณ์ต่างๆ ก็มีชาวบ้านในแถบนั้นและใกล้เคียงมาขอหยิบเอาพระไปบูชาบ้าง แต่ก็ไม่ได้หวงห้ามเช่นกัน ต่อมาเกิดคำเล่าลือถึงความศักดิ์สิทธิ์ ชาวบ้านสระบุรีและลพบุรีต่างก็มาขอบูชาไปจากวัด จนกระทั่งพระนางวัดเวียงที่บรรจุอยู่ในโอ่งร่อยหรอและหมดไปในที่สุด

ในระยะต่อมาที่หน้าพระอุโบสถ มีเจดีย์เก่าแก่อยู่สององค์ ซึ่งชำรุดทรุดโทรมไปตามสภาพ เด็กๆ แถววัดได้ขึ้นไปเล่นกันบนเจดีย์ และพบว่ามีรอยชำรุดเป็นโพรง และพบพระนางพญาวัดเวียงจึงนำไปให้ผู้ใหญ่ดู ทางวัดจึงได้เปิดกรุนำพระนางพญาวัดเวียงออกมาได้อีกจำนวนหนึ่ง ประมาณกันว่าสัก 3,000 องค์เห็นจะได้ พระที่แตกกรุในครั้งนี้จะมีคราบนวลกรุบางๆ จับอยู่ ซึ่งแตกต่างจากพระที่บรรจุในโอ่งที่จะไม่มีคราบกรุ

พระที่พบทั้งสองครั้งนั้นจะเป็นพระพิมพ์ เดียวกัน เนื้อเดียวกัน คือเป็นเนื้อดินเผาที่มีกรวดทรายปนอยู่ในเนื้อพระ ในส่วนของพิมพ์จะเป็นพระประทับนั่งปางสมาธิ และก็จะมีอยู่หลายพิมพ์แต่ก็คล้ายๆ กันมาก แยกพิมพ์คร่าวๆ เป็นพิมพ์ฐานยาว และพิมพ์ฐานสั้น ในด้านความนิยมจะนิยมพิมพ์ฐานยาวมากกว่าพิมพ์ฐานสั้น จากพุทธศิลปะของพระนางพญาวัดเวียงสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นพระที่สร้างในปลาย สมัยกรุงศรีอยุธยา หรือต้นกรุงรัตนโกสินทร์

พุทธคุณของพระนางพญาวัดเวียงจะเด่นทางด้าน อยู่คง และแคล้วคลาด ในปัจจุบันก็ยังพอหาเช่าได้และสนนราคาก็ไม่สูงนักครับ พระนางพญาวัดเวียงจึงเป็นพระเก่าเนื้อดินเผาที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งของ จังหวัดพระนครศรีอยุธยาครับ

ในวันนี้ผมได้นำรูปพระนางพญา วัดเวียง มาให้ชมกันด้วยครับ

ด้วยความจริงใจ

แทน ท่าพระจันทร์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน