หลวงปู่เปลี่ยน อินทสโร

วัดไชยชุมพลชนะสงคราม

คอลัมน์ อริยะโลกที่ 6

หลวงปู่เปลี่ยน อินทสโร – วันอาทิตย์ที่ 5 เม.ย.2563 น้อมรำลึกครบรอบ 158 ปี ชาตกาลของ “พระวิสุท ธิรังษี” หรือ “หลวงปู่เปลี่ยน อินทสโร” อดีตเจ้าอาวาสวัดใต้ หรือวัดไชยชุมพลชนะสงคราม อ.เมือง จ.กาญจนบุรี นอกจากกิตติศัพท์ทางพุทธาคม ท่านยังเป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่ที่มีคุณูปการ และเคยดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรี

เป็นชาวบ้านม่วงชุม จ.กาญจนบุรี เกิดวันเสาร์ เดือน 5 ปีจอ ตรงกับวันเสาร์ที่ 5 เม.ย. 2405 ที่เรียกกันว่า “เสาร์ห้า”

วัยหนุ่ม มีความเป็นนักสู้ เข้มแข็ง ทรหดอดทน เรียกได้ว่าเป็นนักเลงเต็มตัวตั้งแต่ยังเด็ก รูปร่างล่ำสัน ผิวดำ จึงเรียกชื่อว่า ทองดำ บิดามารดามีความเป็นห่วง เกรงว่าต่อไปในอนาคตจะเอาดีได้ยาก จึงนำไปฝากให้เรียนหนังสือที่วัดใต้ เป็นศิษย์พระครูวิสุทธิรังษี (หลวงปู่ช้าง) เจ้าอาวาสและเจ้าคณะเมือง กาญจน์ในสมัยนั้น

เมื่อมาอยู่วัด พฤติกรรมเปลี่ยนไป กลายเป็นคนสุขุมเยือกเย็น สุภาพเรียบร้อย และโอบอ้อมอารี บิดาเลยเปลี่ยนชื่อให้ใหม่ว่า “เปลี่ยน” นับแต่นั้นมา

อุปสมบทที่วัดใต้ โดยมี หลวงปู่ช้าง เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอธิการรอด วัดทุ่งสมอ และพระอธิการกรณ์ วัดชุกพี้ เป็นพระคู่สวด ได้รับฉายา “อินทสโร” ซึ่งเป็นฉายาของผู้เกิดวันอาทิตย์ เนื่องจากพระอุปัชฌาย์เห็นว่า เสาร์ห้า เป็นคนชะตากล้าแข็ง ถ้าให้ฉายาเป็นคนวันเสาร์เกรงว่าจะกล้าแข็งเกินไป

หลังอุปสมบท มุ่งมั่นศึกษาเล่าเรียนทั้งหนังสือขอม-หนังสือไทย ปฏิบัติพระธรรมวินัยเคร่งครัด สำเร็จในทุกวิทยาการที่ได้รับการสอนสั่ง เป็นที่ถูกใจของพระอุปัชฌาย์ จึงตั้งให้เป็นพระใบฎีกา

ต่อมาหลวงปู่ช้างมรณภาพ ทางการจึงแต่งตั้งให้พระใบฎีกาเปลี่ยน เป็นเจ้าอาวาสสืบแทน และเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูวิสุทธิรังษี

ปกครองและพัฒนาวัดจนเจริญรุ่งเรือง ส่งเสริมและพัฒนาด้านการศึกษาทั้งด้านปริยัติธรรมและกุลบุตรกุลธิดา โดยจัดตั้งโรงเรียนประจำจังหวัด คือ โรงเรียนวิสุทธิรังษี

หลวงพ่อเปลี่ยนได้รับการชมเชยจาก ร.5 ในคราวเสด็จประพาสเมืองกาญจน์ โดยนำพระสงฆ์ 20 รูป สวดมนต์รับเสด็จที่พลับพลาว่า “สวดมนต์เก่ง สวดได้ชัดเจน ตลอดจนการลีลา สังโยคน่าฟัง และขัดตำนานได้ไพเราะ”

นอกจากนี้ ยังร่วมพัฒนาวัดวาอารามต่างๆ ในจังหวัดมาโดยตลอด จนได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรี

ต่อมา รัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่ พระวิสุทธิรังษี และสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราช ได้พระราชทานสร้อยต่อท้ายเป็น พระวิสุทธิรังษี ชินศาสนโสภีสังฆปาโมกข์

ปกติปฏิบัติเคร่งครัดในระเบียบของสงฆ์โดยสมบูรณ์ขยันทำวัตรสวดมนต์และกวดขันผู้ที่อยู่ในความปกครองอย่างมีความยุติธรรม ใครดีก็ส่งเสริม ใครเลวก็ตักเตือน หากเตือนแล้วไม่ฟังก็จะปราบอย่างเด็ดขาด จึงเป็นที่เลื่อมใสของชาวเมืองกาญจน์ และเมืองใกล้เคียง

สมเด็จพระมหาสมณฯ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส วัดบวรนิเวศ เขียนชมเชยในตรวจการคณะสงฆ์ จ.กาญจบุรีว่า “หลวงพ่อฉลาดในการปกครองมาก แม้เมืองกาญจน์จะมีอาณาเขตกว้างขวาง ก็ปกครอง ด้วยความเรียบร้อย”

เป็นที่กล่าวขวัญว่า มีพุทธาคมเข้มขลัง แม้ขุนโจร ชื่อดัง อาทิ เสือสาย เสือหัด เสือแก้ว เสือหนอม ฯลฯ ยังต้องเคารพยำเกรง พิธีปลุกเสกและพุทธาภิเษกต่างๆ ต้องมีชื่อของท่านร่วมด้วยเสมอ

แม้พระราชพิธีสำคัญๆ อาทิ งานถวายพระเพลิง ร.5, เสวยราชย์ ร.6, งานฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ 150 ปีฯลฯ

หลวงปู่เปลี่ยนมีลูกศิษย์มากมาย ที่เป็นพระเกจิผู้มี ชื่อเสียงต่อมา เช่น พระเทพมงคลรังษี (หลวงปู่ดี) วัดเหนือ จ.กาญจนบุรี และพระเทพสังวรวิมล (หลวงปู่เจียง) วัดเจริญสุทธาราม จ.สมุทรสงคราม เป็นต้น

มรณภาพเมื่อปี พ.ศ.2490 สิริอายุ 85 ปี พรรษา 64

พิธีพระราชทานเพลิงในปลายปี พ.ศ.2490 ซึ่งเป็นงานที่ยิ่งใหญ่ของเมืองกาญจน์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน