เลือกเล่นพระแบบไหนแล้วแต่ใจปรารถนา

คอลัมน์ ชมรมพระเครื่อง

เลือกเล่นพระแบบไหนแล้วแต่ใจปรารถนา –วัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน ขึ้นหัวข้อแบบนี้ก็เพราะเวลานี้ได้เห็นการแสดงความคิดเห็นในโซเชี่ยลกันมากมายหลากหลายความคิด บ้างก็ตั้งทฤษฎีกันขึ้นมาเองว่าด้วยการตรวจสอบพระว่าแท้หรือไม่อย่างไร โดยเฉพาะพระที่เป็นยอดนิยมเช่น พระเบญจภาคี เป็นต้น

เนื่องจากว่าพระเบญจภาคีมีมูลค่าสูง และเป็นที่ปรารถนาของคนส่วนใหญ่ ก็ให้เหตุผลกันไปหลากหลายรูปแบบ ซึ่งอาจจะแตกต่างจากมาตรฐานของคนส่วนใหญ่ที่มีมูลค่ารองรับของพระนั้นๆ

ครับพระชุดเบญจภาคีเป็นพระที่ผู้นิยมพระเครื่องส่วนใหญ่ปรารถนากันแทบทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีมูลค่าสูงมากๆ ด้วยเช่นกัน แต่ก็เป็นธรรมดาที่พระที่มีมูลค่าสูงๆนั้นก็ย่อมจะหายาก มีผู้คนนิยมมากจึงทำให้มีมูลค่าสูง

ด้วยเหตุนี้เองก็ย่อมทำให้มีคนที่คิดทำของเลียนแบบออกมา และก็มีมานานมากแล้ว ซึ่งในปัจจุบันเองก็ยังมีผู้ทำอยู่เนืองๆ ทีนี้ก็ย่อมมีคนที่ครอบครองพระแบบนี้ หรือได้รับตกทอดกันต่อๆ มา ย่อมคิดว่าพระเครื่ององค์นั้นๆ เป็นพระที่ถูกต้องตามมาตรฐานไปด้วยเช่นกัน

แต่พอนำไปสอบถามหรือตรวจสอบดูกับกลุ่มที่เล่นหากันเป็นมาตรฐานที่มูลค่ารองรับก็มักจะได้รับการปฏิเสธว่าเป็นพระที่ถูกต้อง ก็มีคนที่ยอมรับและคนที่ไม่ยอมรับความคิดเห็นนั้นๆ

เอาล่ะเรามาพูดถึงมาตรฐานที่มีมูลค่ารองรับนั้นเขามีมาตรฐานอย่างไร คนในสังคมพระเครื่องส่วนใหญ่นั้นเขาก็ได้รับการถ่ายทอดหลักการตรวจสอบว่าใช่หรือไม่อย่างไรที่สืบต่อกันมา โดยสังคมยอมรับและรับรองมูลค่า

ซึ่งถามว่าแล้วจะมั่วๆ หรืออุปโลกน์กันขึ้นมาหรือเปล่า? ส่วนตัวผมเองในสมัยก่อนก็ได้ทดลองศึกษามามากมายหลายรูปแบบ และให้เหตุผลต่างๆ มาหักล้างแล้วจึงศึกษาดูก็เห็นว่าที่เขาเล่นหากันเป็นมาตรฐานนั้นถูกต้อง มีเหตุผลอธิบายได้จริง

เลือกเล่นพระแบบไหนแล้วแต่ใจปรารถนา

ซึ่งก็ต้องศึกษาหาความรู้เปรียบเทียบดูก็จะเห็นได้ว่ามีเหตุและผลที่พิสูจน์ได้ เพียงแต่ผู้ที่ยังศึกษาได้ไม่ถึงก็อาจจะงงอยู่ว่าเขาใช้เหตุผลอะไรมาพิสูจน์ และที่มองเห็นง่ายๆ ก็คือ ถ้าไม่มีเหตุผลแล้วสังคมส่วนใหญ่เขา ก็คงไม่ให้มูลค่าแน่ๆ

พระเครื่องไม่ว่าจะเป็นพระประเภทใดก็ตาม ย่อมมีร่องรอยการผลิตพระชนิดนั้นๆ ขึ้นมา เช่น แบบพิมพ์ ถ้าเป็นพระเก่าๆ ยุคโบราณเราก็คงไม่ต้องถึงกับเห็นแม่พิมพ์หรือเกิดทันหรอกนะครับ เพราะวัตถุใดๆ ก็ตามที่ถูกผลิตขึ้นด้วยแม่พิมพ์ ร่องรอยของแม่พิมพ์นั้นๆ ก็จะมีให้เห็นได้ในชิ้นงาน ไม่ว่าจะเป็นพระเครื่องหรืออะไรก็ตาม

อย่างพระเครื่องที่ออกมาจากพิมพ์อันเดียวกันก็ย่อมจะมีร่องรอยของตัวแม่พิมพ์นั้นๆ ปรากฏอยู่ในองค์พระเครื่อง ที่เรามักจะเรียกกันว่าตำหนิแม่พิมพ์ และร่องรอยของตัวแม่พิมพ์ อันเดียวกันก็ย่อมจะปรากฏในทุกๆ องค์ที่เกิดจากแม่พิมพ์อันเดียวกัน มิติความตื้นลึกก็จะเป็นเช่นเดียวกัน และเกิดในตำแหน่งเดียวกันทุกองค์

นอกจากนี้ก็ยังมีร่องรอยการผลิตพระเครื่องนั้นๆ อีก คือกรรมวิธีการผลิตของพระเครื่องแต่ละอย่างแต่ละรุ่น คือด้านหลังองค์พระด้านข้างองค์พระแต่ละชนิดจะเกิดขึ้น เหมือนๆ กันในพระเครื่องที่ผลิตรุ่นเดียวกัน

ยกตัวอย่างพระกรุวัดตะไกร จะเห็นร่องรอยการนำพระออกจากแม่พิมพ์ด้วยการใช้ไม้เสียบที่ใต้ฐานพระแล้วงัดเอาพระออกมาจากแม่พิมพ์ ดังนั้นพระกรุวัดตะไกรก็จะมีร่องรอยปรากฏเป็นรูที่ใต้ฐานทุกองค์ ไม่ว่าจะเป็นพิมพ์ใด นั่นก็เป็นร่องรอยการผลิตชนิดหนึ่ง

พระเครื่องแบบอื่นๆ ก็มีร่องรอยการผลิตตามแบบของเขาเช่นกัน เพียงแต่แตกต่างกันไปในของแต่ละพระ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราต้องศึกษาหาความรู้เอา

ยกตัวอย่างพระสมเด็จฯ วัดระฆังฯ ที่เราเห็นเขาเรียกพิมพ์กันว่า พิมพ์ใหญ่ พิมพ์ทรงเจดีย์ พิมพ์ฐานแซม พิมพ์เกศบัวตูมนั้น ตัวแม่พิมพ์มีแค่ 4 แม่พิมพ์เท่านั้นหรือ?

ความจริงก็คือ แต่ละพิมพ์มีแม่พิมพ์แยกอีกหลายแม่พิมพ์ ผมคงยังไม่พูดถึงตรงนี้นะครับ เพียงแต่อยากจะบอกว่ายังมีตัวแม่พิมพ์แยกออกได้อีกหลายแม่พิมพ์ แต่เขาจัดไว้เป็นหมวดๆ เท่านั้น ทีนี้เวลาเราศึกษาก็ต้องศึกษาทีละแม่พิมพ์ ทุกแม่พิมพ์ก็จะไม่งงและเข้าใจง่ายขึ้น

ก็มายกตัวอย่างอีกครั้งที่พระสมเด็จพิมพ์ใหญ่ วัดระฆังฯ ตัวแม่พิมพ์ที่เห็นได้บ่อยที่สุดก็คือแม่พิมพ์อกวี แม่พิมพ์นี้จะมีอกเป็นรูปคล้ายตัววีในภาษาอังกฤษ (V) คือด้านบนของอกจะกว้างแล้วค่อยๆเรียวลงมา คล้ายตัววี จึงมักจะเรียกกันง่ายๆว่าแม่พิมพ์อกวี

พระสมเด็จแม่พิมพ์อกวีทุกองค์ก็จะมี ร่องรอยในส่วนต่างๆ เหมือนกันหมดทุกองค์เพราะเกิดมาจากแม่พิมพ์อันเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นองค์พระเกศ ฐานกรอบแม่พิมพ์ก็จะเหมือนกันหมดทุกองค์ มิติความตื้นลึกในส่วนต่างๆ ตำแหน่งก็จะต้องเหมือนกันหมด

เพราะเกิดจากแม่พิมพ์อันเดียวกัน เมื่อนำพระแท้แม่พิมพ์เดียวกันมาเปรียบเทียบกันก็จะมีร่องรอยการผลิตที่เหมือนกันทุกองค์ ทีนี้มาว่ากันด้วยเนื้อหา พระสมเด็จฯ วัดระฆังฯ ก็สร้างมาจากเนื้อผงปูนขาวที่ทำในสมัยนั้น ที่ว่ามีส่วนผสมอื่นๆ นั้นก็เป็นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

แต่เนื้อหาหลักก็จะเป็นปูนขาวทั้งสิ้น พอเรามาดูพิสูจน์เปรียบเทียบก็จะเหมือนๆ กันหมด ในพระ สมเด็จฯ ของวัดระฆังฯ สภาพความเสื่อมของอายุก็จะเหมือนๆ กันอีกเช่นกัน

ธรรมชาติการตัดขอบก็จะเป็นกรรมวิธีเดียวกัน ธรรมชาติที่เกิดขึ้นที่ด้านหลังก็จะออกมาแบบเดียวกันทั้งๆ ที่ไม่ได้มีแม่พิมพ์ด้านหลัง แต่ร่องรอยของด้านหลังที่เกิดจากกรรมวิธีการสร้างก็จะออกมาเหมือนๆ กันอย่างมีเหตุผล

เพียงแต่เราจะศึกษาไปถึงหรือไม่ สามารถเปรียบเทียบได้หมด เมื่อมีการศึกษากันมาเป็นร้อยปี ศึกษาเปรียบเทียบต่อๆ กันมาจนเป็นมาตรฐานแล้ว เขาจึงยึดถือแบบการพิสูจน์ว่าถูกต้องตามนี้ และก็มีการรับรองมูลค่า จึงทำให้เป็นมาตรฐาน

ในส่วนการพิสูจน์แบบอื่นๆ นอกเหนือจากนี้ก็มีแบบต่างๆ มากมาย มีทั้งนั่งทางในหรือกำหนดรูปแบบต่างๆ กันขึ้นมาอีกเยอะมาก เพียงแต่ถ้ายังไม่ถูกต้องตรงกับมาตรฐานเขายังไม่ยอมรับเป็นมาตรฐาน พระแบบนี้ก็ยังไม่มีมูลค่ารองรับทางสังคม เมื่อนำมาขายต่อโดยเฉพาะในสถานที่เป็นมาตรฐานสังคมรับรองมูลค่าก็ยังขายไม่ได้ไม่มีมูลค่ารองรับ

ถ้าแบบไหนพิสูจน์จนเป็นที่ยอมรับของสังคมได้ก็จะมีมูลค่า ในการแสดงทฤษฎีใหม่ๆ ในการพิสูจน์ว่าใช่หรือไม่นั้นก็คงต้องทำให้สังคมส่วนใหญ่ยอมรับเสียก่อนจึงจะเป็นมาตรฐานที่สังคมให้คุณค่า ถ้ายังก็คงต้องศึกษากันต่อๆ ไป ไม่ต้องไปต่อว่ากันต่างๆ นานา สิ่งสำคัญก็คือต้องทำให้สังคมยอมรับก่อนครับ

ผมคงไม่ไปว่าแบบไหนถูกหรือแบบไหนผิด มนุษย์เราเป็นสิ่งมีชีวิตที่เป็นแบบสัตว์สังคม ก็ต้องยอมรับความคิดเห็นของสังคมส่วนใหญ่ แต่ความคิดที่เป็นส่วนตัวก็เป็นของตัวเรา ไม่มีใครว่าเป็นสิทธิ์ส่วนตัว ในส่วนตัวผมนั้นยอมรับความเป็นมาตรฐานของสังคมที่มีมูลค่ารองรับครับ ส่วนที่ใครจะเลือกเชื่อแบบไหนก็เป็นสิทธิ์ส่วนบุคคลครับ ก็เลือกกันนะครับ

วันนี้ก็ขอนำรูปพระสมเด็จฯ วัดระฆังฯ พิมพ์ใหญ่ แม่พิมพ์อกวี ที่เป็นแบบมาตรฐานสังคมมีมูลค่ารองรับมาให้ชมครับ

ด้วยความจริงใจ

แทน ท่าพระจันทร์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน