กะลาราหูแกะล้านนา

กะลาราหูแกะล้านนา – สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน วันนี้เรามาคุยกันถึงเครื่องรางของขลังชนิดหนึ่งคือกะลาแกะรูปพระราหู ซึ่งที่เรารู้จักกันดีก็คือกะลาราหูของหลวงพ่อน้อย วัดศรีษะทอง นครปฐม ซึ่งความจริงแล้วกะลาพระราหูนั้นก็มีหลากหลายอาจารย์

ที่ท่านสร้างไว้โดยเฉพาะอย่างยิ่งอักขระที่ลงจารนั้นจะเป็นตัวหนังสือล้านนาหรือตัวเมือง แทบทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็นของหลวงพ่อน้อย หรืออาจารย์อื่นๆ ก็ตาม ในวันนี้เราก็จะมาคุยกันถึงกะลาแกะราหู ของท่านเกจิอาจารย์ล้านนากันบ้าง

การสร้างกะลาราหูนั้น ล้านนามีการสืบทอดต่อกันมาช้านานแต่โบราณ เอกลักษณ์คือจะลงอักขระด้วยตัวหนังสือล้านนา หรือที่เรียกกันว่าตัวเมือง การสร้างกะลาราหูแบบล้านนามีทั้งที่เป็นแบบเดี่ยวและแบบคู่ แบบเดี่ยวมักจะรวมยันต์สุริยะกับจันทรประภาไว้ด้วยกัน ส่วนแบบคู่นั้นจะแยกกะลาฝาหนึ่งเป็นสุริยะและอีก ฝาหนึ่งเป็นจันทระ

กะลาราหูแกะล้านนา

วัสดุที่นำมาใช้สร้างราหูนั้นจะใช้กะลาตาเดียว คือกะลาโดยปกติทั่วไปจะมีตาอยู่สามตา มีตารูงอก 1 รู และเป็นตาอีก 2 ตาแต่กะลาตาเดียวนั้นมีแค่ 1 รูเท่านั้น กะลาตาเดียวโบราณถือว่าเป็นอาถรรพ์มีฤทธิ์ในตัวเอง เมื่อนำมาทำเป็นเครื่องรางปลุกเสกจะทวีความขลังมากขึ้น และโดยส่วนมากกะลาพระราหูของล้านนามักจะมีการลงรักปิดทองล่องชาด

กะลาราหูล้านนาที่ผมจะพูดถึงวันนี้ ก็คือกะลาราหูของครูบานันตา ท่านเป็นบรมครูในเรื่องการสร้างกะลาราหูของล้านนา โดยท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ร่วมยุคกับครูบาศรีวิชัย อีกทั้งยังได้เคยถวายราหูให้กับครูบาศรีวิชัยคู่หนึ่งด้วย

จากคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่ว่า ครูบานันตาท่านจะทำกะลาแกะรูปราหูนั้น จะปลุกเสกที่กลางแม่น้ำวังบริเวณหน้าวัด สมัยก่อนนั้นแม่น้ำวังจะแห้งแล้งจะมีเกาะกลางแม่น้ำ ท่านครูบานันตาจะทำพิธีแกะพระราหูประมาณ 7 คู่ ตลอดทั้งคืน และจะปลุกเสกกลางแม่น้ำวัง ก่อนที่จะปลุกเสกนั้นจะต้องมีพิธีราชวัติคือการปักธงสี่มุมตั้งเครื่องบายศรี

เสร็จแล้วท่านก็จะตรวจดูว่ามีมดแมลงต่างๆ ในบริเวณหรือไม่ ถ้ามีท่านจะรอให้มดแมลงต่างๆ ไปที่อื่นก่อน การปลุกเสกท่านจะทำพิธีปลุกเสกกะลาพระราหูทั้ง 7 คู่ จนกระทั่งถึงรุ่งเช้า จากนั้นท่านจึงจะมอบให้แก่ลูกศิษย์ไว้ใช้ติดตัว

กะลาราหูของล้านนาโดยส่วนใหญ่ จะมีการลงรักปิดทองล่องชาด และก็มีหลายพระอาจารย์ที่สร้างไว้เช่นกัน เช่น ครูบาวัง วัดบ้านเด่น จ.ตาก พระมหาเมธังกร วัดน้ำคือ จ.แพร่ หลวงพ่อปั้น วัดหอธรรม จ.เชียงใหม่ เป็นต้น

ในวันนี้ผมได้นำรูปกะลาราหูแกะของครูบานันตาวัดทุ่งม่านใต้ จ.ลำปาง จากหนังสือ ตามรอยตำนาน เครื่องรางของขลังขมังเวทย์ มาให้ชมกันครับ

ขอขอบคุณ คุณวีระชัย ไชยเจริญ (โจ๊กลำพูน) ที่กรุณามอบข้อมูลครับ

ด้วยความจริงใจ

แทน ท่าพระจันทร์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน