พระสมเด็จอรหัง – สวัสดีครับท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหา วิหารกทม. มีพระสมเด็จฯ ที่สังคมผู้นิยมพระเครื่องให้ความนิยม คือพระสมเด็จอรหัง และเชื่อกันว่าเป็นพระที่สมเด็จพระสังฆราช(สุก ญาณสังวร) เป็นผู้สร้างไว้ มูลค่าสูงและก็หายากในปัจจุบันครับ

วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร เป็นวัดเก่าแก่ สร้างมาตั้งแต่ในสมัยอยุธยา ชื่อวัดสลัก ต่อเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ทรงให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดสลักในปี พ.ศ.2326

จากนั้นทรงเปลี่ยนชื่อวัดจากวัดสลักเป็น “วัดนิพพานาราม” ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้วัดนิพพานารามเป็นสถานที่ทำสังคายนาในปี พ.ศ.2331 ได้ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามวัดใหม่ว่า “วัดพระศรีสรรเพชญ”

และในปีพ.ศ.2346 ทรงพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ” ตามชื่อวัดในกรุงศรีอยุธยา ที่เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ และเป็นที่ประทับของสมเด็จพระ สังฆราช

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ในการบูรณะวัดมหาธาตุฯ และพระราชทานนามวัดใหม่ว่า “วัดมหาธาตุยุวราช รังสฤษฎิ์” ในปี พ.ศ.2439

อย่างไรก็ตามชาวบ้านทั่วไปก็มักจะเรียกกันติดปากว่า “วัดมหาธาตุ” ที่วัดนี้อย่างที่ทราบกันว่าเคยเป็น ที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวร (สุก ไก่เถื่อน) ก็เคยย้ายจากวัดราชสิทธิ์ (วัดพลับ) มาประทับอยู่ที่วัดแห่งนี้

ครั้งเมื่อได้รับพระราชทานสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จ พระสังฆราช องค์ที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และจากคำบอกเล่าสืบต่อกันมาว่า สมเด็จฯ ได้สร้างพระเครื่องเนื้อผงไว้ เป็นที่แจกจ่ายและบรรจุไว้

พระสมเด็จที่สมเด็จพระสังฆราช (สุก) สร้างไว้ เป็นพระรูปทรงสี่เหลี่ยม เนื้อผงพุทธคุณ ด้านหลังมักจะพบว่ามีจารอักขระเป็นอักษรขอมคำว่า “อรหัง” มีอีกแบบเป็นลักษณะตราประทับ คำว่า อรหัง เช่นกัน จึงเป็นที่มาของคำเรียกพระชนิดนี้ว่า “พระสมเด็จ อรหัง”

พระที่พบมีอยู่หลายพิมพ์ เช่น พระสมเด็จอรหัง พิมพ์ 3 ชั้น หรือ พิมพ์สังฆาฏิ พระสมเด็จอรหังพิมพ์เกตุอุ หรือเกตุเปลวเพลิง พระพิมพ์ฐานคู่ พระพิมพ์เล็กแบบมีประภามณฑล และพระพิมพ์เล็กไม่มีประภามณฑล พระที่พบที่วัดมหาธาตุจะเป็นพระเนื้อผงออกสีขาว ขาวอมเหลือง และขาวอมเขียวก้านมะลิ

พระแบบพระสมเด็จอรหังยังพบอีกครั้งที่กรุเจดีย์วัดสร้อยทอง แต่ พระที่พบส่วนใหญ่จะเป็นเนื้อแดง มีเนื้อสีขาวบ้าง แต่น้อย และเนื้อพระที่พบก็จะเป็นประเภทเนื้อหยาบทั้งเนื้อแดงและเนื้อขาว ส่วนพิมพ์ของพระจะเหมือนกัน ยกเว้นพระพิมพ์เล็กไม่พบในกรุวัดสร้อยทอง

พระสมเด็จอรหังพิมพ์เล็ก จะพบแต่ เนื้อขาวเท่านั้น ด้านหลังจะมีจารอรหัง ทั้งพิมพ์มีประภามณฑลและไม่มีประภามณฑล พระพิมพ์เล็กนี้จะมีจำนวนน้อย กว่าพระทุกพิมพ์ จึงหายากกว่า และมีการปลอมแปลงกันมานานแล้วครับ

ในวันนี้ผมได้นำรูปพระสมเด็จอรหัง พิมพ์เล็กมีประภามณฑล มาให้ชมกันครับ

โดย…แทน ท่าพระจันทร์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน