พระนางพญาพิษณุโลก พิมพ์เข่าโค้ง – สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน วันนี้เรามาคุยกันถึงพระนางพญาพิษณุโลกกันบ้าง และที่สำคัญเขาดูอะไรกันถึงรู้ว่าเป็นพระแท้ ครับก็เป็นเหมือนกันทุกพระที่เราต้องดูที่พิมพ์ของพระ เนื้อของพระธรรมชาติ (คือความเก่าของพระตามอายุกาลที่ผ่านมา และธรรมชาติของการผลิตที่ย่อมทิ้งร่องรอยไว้เสมอ) ทุกข้อสำคัญเท่าๆ กัน ต้องถูกต้องทั้งหมดครับ

พิมพ์นั้นสำคัญไฉน เรามาพูดกันถึงเรื่องพิมพ์ก่อน เนื่องจากเห็นได้ง่ายและอธิบายได้ง่ายที่สุดจากภาพ และที่สำคัญเห็นได้เป็นสิ่งแรกที่เราดูพระ สิ่งใดก็ตามที่ออกมาจากแม่พิมพ์อันเดียวกัน ย่อมจะมีร่องรอยหรือรายละเอียดของพิมพ์ที่เหมือนกัน แล้วพระนางพญาพิมพ์เข่าโค้งมีแม่พิมพ์ ตัวเดียวหรือ? ถ้าให้ตอบก็คือใช่ แล้วจะทำพระได้จำนวนมากๆ หรือ? ความจริงการทำแม่พิมพ์พระสมัยโบราณนั้นเขาทำตัวแม่พิมพ์เป็นแบบตัวผู้ คือตัวต้นแบบที่มาทำเป็นแม่พิมพ์พระ เขาแกะเป็นองค์พระเหมือนกับพระที่เราเห็น

อย่างพระเนื้อดินเผา เมื่อแกะตัวต้นแบบเสร็จ เขาก็จะนำเอาดินเหนียวมากดทับลงไปบนตัวต้นแบบ ก็จะได้ตัวแม่พิมพ์ที่เป็นแม่พิมพ์ตัวเมียสำหรับที่จะนำมาใช้พิมพ์พระ และก็ทำซ้ำหลายๆ อัน ก็จะได้แม่พิมพ์หลายอันที่เหมือนกันทุก แม่พิมพ์ จากนั้นเขาก็จะนำแม่พิมพ์ที่ ถอดออกมา ไปเผาไฟ ก็จะได้เป็นแม่พิมพ์ดินเผาหลายอัน แล้วจึงนำไปกดพิมพ์พระอีกทีหนึ่ง พระโบราณที่เป็นพระเครื่องเก่าๆ ตั้งแต่สมัยอยุธยาขึ้นไปมักจะใช้กรรมวิธีนี้แทบทั้งสิ้น พระในสมัยรัตนโกสินทร์ก็ยังมีการใช้กรรมวิธีนี้อยู่เช่นกัน ดังนั้นเราจะเห็นว่าพระกรุโบราณนั้นจะมีรายละเอียดเหมือนๆ กันหมดในแม่พิมพ์เดียวกัน

แม้จะเป็นพระที่มีจำนวนมากมาย เช่นพระคงลำพูนก็ตาม ใช้กรรมวิธีการทำแม่พิมพ์แบบนี้เหมือนกันหมด

ดังนั้น เมื่อเขาแยกพิมพ์พระออกมาเป็นพิมพ์อะไรก็จะมีรายละเอียดของแม่พิมพ์ ที่เหมือนๆ กัน ทีนี้พระนางพญาพิมพ์ เข่าโค้งที่เรานำมาพูดถึงกันก็เช่นกัน มาดู ที่รูปผมนำมาให้ดูเปรียบเทียบ 2 องค์เช่นเคยเพื่อให้เปรียบเทียบกัน เราก็ใช้สูตรเดิมทุกครั้ง คือแบ่งเป็น 2 ซีก ซ้ายขวา แล้วพิจารณาดูว่ามีอะไรบ้างที่ควรสังเกต ตั้งแต่เศียรให้สังเกตดูซ้ายกับขวา ก็จะเห็นได้ง่ายว่า หูของพระด้านขวามือเรา (ซ้ายของพระ) นั้นใบหูจะวาดโค้งลงมาปลายหูจะจรดปลายสังฆาฏิด้านบนพอดี

ลักษณะการวาดโค้งเป็นอย่างไร และเส้นคอของพระก็จะมาชนกับเส้นจีวรด้านบนพอดีเช่นกัน ระหว่างเส้นจีวรก็จะเป็นร่อง มาดูที่เส้นจีวรที่โค้งลงมาพาดผ่านหน้าอกพระเป็นเส้นยาวเลยลำตัวของพระไปเล็กน้อย สิ่งเหล่านี้ต้องจดจำให้ดีว่าเส้นสายนั้นเป็นอย่างไร เลยไปแค่ไหนต้องจำให้แม่นยำ เพราะเป็นตำแหน่งของแม่พิมพ์ ใต้จีวรลงมาเป็นหน้าอกพระก็จะเป็นแอ่งบุ๋มลงไป อีกด้านของหน้าอกตรงบริเวณเดียวกันที่ด้านขวามือเรา (ซ้ายขององค์พระ) ก็จะยุบลงไปเช่นเดียวกัน ทำให้ในส่วนของท้องพระดูป่องนูนขึ้นมาเป็นลอนท้อง นี่คือศิลปะที่ช่างแกะแม่พิมพ์เขาทำไว้ให้เป็นสัดส่วนขององค์พระในซอกแขนของพระ ทั้ง 2 ด้าน พื้นผนังก็ไม่เรียบ จะขรุขระไม่ราบเรียบเสียทีเดียว นี่ก็เป็นร่องรอยการผลิตของแม่พิมพ์ ซึ่งจะเป็นเหมือนกันทุกองค์ของพระ นางพญาพิมพ์เข่าโค้ง ร่องรอยของการขรุขระนี่จะต้องเหมือนกันทุกองค์ด้วย

ลองศึกษาเปรียบเทียบดูตามรูปที่นำมาให้ดูนะครับ มือทั้ง 2 ข้างมีลักษณะเด่นอย่างไรก็ต้องจดจำให้ดีหน้าตักเป็นอย่างไร ต้องจำให้แม่น หัวเข่าทั้ง 2 ข้าง เป็นอย่างไร มีอะไรให้สังเกตบ้าง จำให้ได้แม่น เพราะพระปลอมที่มีฝีมือหน่อยเขาก็ทำ แต่แกะแม่พิมพ์ใหม่ทำอย่างไรก็ไม่เหมือน ทำได้แค่ใกล้เคียงเท่านั้นครับ ตำแหน่งและมิติ ความลึกตื้นของพระในแต่ละส่วนนั้น สำคัญครับ แกะสามมิติคอมพ์ก็ทำไม่ได้เหมือนครับ

พระนางพญาพิษณุโลก ด้านหลังนั้น ก็มีร่องรอยการผลิตทิ้งไว้ให้เป็นจุดสังเกตที่เกิดจากธรรมชาติของการผลิตที่ไม่ได้ตั้งใจทำ คือไม่มีแม่พิมพ์ด้านหลัง แต่จะมีร่องรอยของการทำในช่วงนั้น เป็นเหมือนกันทุกพิมพ์ครับ ไม่ใช่แค่รอยนิ้วมือที่กดด้านหลังแค่นั้นนะครับ สังเกตดูดีๆ ศึกษาด้วยตัวเองได้ครับ และสิ่งที่ได้นั้นจะจดจำไปตลอดชีวิตครับ ขออย่างเดียวต้องศึกษาจากพระแท้เท่านั้นนะครับ

วันนี้ผมได้นำพระนางพญาพิษณุโลก กรุวัดนางพญา พิมพ์เข่าโค้งที่เป็นพระแท้ที่ถูกต้องตามมาตรฐานพระแท้และมีมูลค่ารองรับมาให้ชม 2 องค์ครับ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน