พระร่วงนั่งหลังลิ่ม – สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน วันนี้เรามาคุยกันถึงพระร่วงนั่งหลังลิ่มกันสักหน่อยนะครับ ในสมัยก่อนมีความนิยมกันมาก พบที่ในกรุจังหวัดสุโขทัย กรุที่พบก็พบที่กรุวัดช้างล้อมเป็นกรุปฐม แล้วทำไมจึงมีชื่อเรียกต่อท้ายว่าหลังลิ่ม นั้นเป็นอย่างไร เรื่องที่เราจะมาพูดถึงในวันนี้ครับ

พระร่วงนั่งหลังลิ่ม พบครั้งแรกที่กรุวัดช้างล้อม จังหวัดสุโขทัย เป็นเจดีย์ทรงระฆังคว่ำแบบลังกา ซึ่งมีขนาดใหญ่ ฐานเป็นสี่เหลี่ยม ประดับฐานเจดีย์ด้วยรูปช้างโผล่มาครึ่งตัวรอบๆ ฐานขององค์พระเจดีย์ เจดีย์ลักษณะนี้ยังพบในสถานที่อื่นๆ อีก เช่น ที่เมืองเก่ากำแพงเพชร แต่ตั้งชื่อเรียกต่างกันเจดีย์ลักษณะนี้ในจังหวัดสุโขทัยเรียกตาม รูปช้างที่รายรอบอยู่ที่ฐานว่า “วัดช้างล้อม” ส่วนที่กำแพงเพชรที่มีพระเจดีย์ลักษณะแบบเดียวกันว่า “วัดช้างรอบ” สันนิษฐานว่าตัวองค์พระเจดีย์วัดช้างล้อมได้สร้างไว้ตั้งแต่ปีพ.ศ.1829 สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี

พระร่วงนั่งหลังลิ่มนี้ได้ถูกพบบรรจุไว้ในกรุองค์พระเจดีย์วัดช้างล้อม ตั้งแต่ในปี พ.ศ. 2480 ซึ่งภายในกรุก็ได้พบพระพุทธรูปและพระเครื่องอื่นๆ อีกมากมาย แต่พระที่มีชื่อเสียงของกรุนี้ก็คือพระร่วงนั่งหลังลิ่ม ที่เรียกกันต่อท้ายชื่อพระร่วงนั่งว่า “หลังลิ่ม” ก็เนื่องจากที่ด้านหลังขององค์พระนั้นปรากฏว่ามีลักษณะเป็นร่องรางคล้ายๆ กับลิ่มสกัด เข้าใจว่าเป็นแบบประกับหลังของแม่พิมพ์สำหรับการเทหล่อโลหะจึงได้ชื่อเรียกกันต่อๆ มาว่า “พระร่วงนั่งหลังลิ่ม” พระที่พบจะเป็นเนื้อชินเงินทั้งหมด หลังจากนั้นในปีพ.ศ.2495 ก็ยังขุดพบพระร่วงนั่งหลังลิ่มอีกครั้งหนึ่งในกรุนี้ และเป็นการพบพระร่วงนั่งหลังลิ่มที่กรุนี้เป็นกรุแรก

ต่อมาในปีพ.ศ.2500 ก็มีการพบพระร่วงนั่งหลังลิ่มอีกที่กรุแก่งสาระจิตอีกครั้ง พระที่ พบที่กรุแก่งสาระจิตจะมีผิวปรอทขาวจับ อยู่บริเวณผิวพระ ส่วนพระที่พบของกรุ วัดช้างล้อมจะมีผิวออกดำคล้ำกว่า และในปีพ.ศ.2507 ก็พบพระร่วงนั่งลักษณะคล้ายๆ กันที่กรุวัดเขาพนมเพลิง แต่ขนาดของพระจะเล็กกว่าของกรุวัดช้างล้อมกับกรุแก่งสาระจิต และที่ด้านหลังพระของกรุวัดเขาพนมเพลิง จะพบเป็นแบบหลังตันทั้งสิ้นครับ

พระร่วงนั่งหลังลิ่มที่พบทุกกรุจะพบเป็นพระเนื้อชินเงินทั้งหมด พุทธลักษณะเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งปางมารวิชัย บนอาสนะฐานเขียงสองชั้น องค์พระจะสูงชะลูดเข่าแคบ มีเส้นสังฆาฏิสั้นอยู่เหนือราวนม พระพักตร์ปรากฏรายละเอียดของหน้าตาคิ้วคางชัดเจน มีขอบไรพระศกและที่สะโพกจะเห็นเส้นขอบสบงชัดเจน ซึ่งเป็นศิลปะแบบอู่ทอง พระร่วงนั่งหลังลิ่มกรุวัดช้างล้อมที่ใต้ฐานจะเห็นรอยตัดชนวนที่ใต้ฐาน 3 จุด คือที่ใต้หัวเข่าทั้งสองข้าง และที่ตรงบริเวณตรงกลางหน้าตักอีกหนึ่งจุด

ส่วนที่ด้านหลังจะปรากฏร่องจากด้านล่างขึ้นไปลักษณะคล้ายลิ่ม จึงเป็นที่มาของชื่อเรียกต่อท้าย และที่ด้านหลังนี้เองก็จะปรากฏว่ามีเส้นเสี้ยนอยู่ตลอดของด้านหลัง ลักษณะที่ปรากฏที่ด้านหลังนี้ก็ถือเป็นเอกลักษณ์ของพระร่วงนั่งหลังลิ่ม และเป็นจุดสังเกตพระแท้และของเลียนแบบด้วยครับ

พระร่วงนั่งหลังลิ่มได้รับความนิยมมา แต่โบราณ พุทธคุณดีพร้อมครบทุกด้าน และมีชื่อเสียงในทางด้านแคล้วคลาดภยันตราย ปัจจุบันหาพบแท้ๆ ยากเช่นกันครับ สนนราคาก็ค่อนข้างสูง

ในวันนี้ผมได้นำรูปพระร่วงนั่งหลังลิ่มของกรุวัดช้างล้อม ทั้งด้านหน้าและด้านหลังจากหนังสืออมตพระกรุอันล้ำค่าของไทยมาให้ชมกันครับ

โดย…แทน ท่าพระจันทร์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน