พระสมเด็จวัดระฆังฯ พิมพ์ใหญ่ อกกระบอก – สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน วันนี้ผมก็นำรูปพระสมเด็จวัดระฆังฯ พิมพ์ใหญ่อีกแม่พิมพ์หนึ่งมาให้ชมครับ พระพิมพ์ใหญ่แม่พิมพ์นี้เป็นแม่พิมพ์ที่ไม่ค่อยได้พบเห็นบ่อยนัก อาจจะมีจำนวนน้อยหรือ พระอาจจะยังไม่ได้ถ่ายรูปมาก นักจึงไม่ค่อยได้มีเผยแพร่กันสักเท่าไร นักครับ

ผมเคยบอกว่าพระสมเด็จ วัดระฆังฯ มีอยู่หลายแม่พิมพ์ ไม่ใช่มีแม่พิมพ์เดียว จึงได้นำรูปพระสมเด็จวัดระฆังฯ มาให้ชมหลายแม่พิมพ์ แต่ที่เขาจัดให้อยู่ในหมวดของพระพิมพ์ใหญ่ก็เนื่องจากมีพุทธลักษณะหลายๆ อย่างที่เหมือนๆ กัน เพียงแต่มีรายละเอียดของพิมพ์แตกต่างกันเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งเท่าที่ในสังคมเขาศึกษากันมาก็มีเหตุผลพิสูจน์แล้วว่าทำไมจึงมีจึงเป็นเช่นนี้ ในส่วนของเนื้อหาหลัก และธรรมชาติของการผลิตก็ยังคงเหมือนกันทั้งสิ้นครับ

เราลองมาดูที่พระทั้ง 2 องค์ดูครับ ก็ใช้สูตรเดียวกันกับพระองค์อื่นๆ คือแบ่งพระออกเป็น 2 ส่วน อย่างที่เคยแนะนำไปแล้วนะครับ เราก็จะเห็นว่าพระทั้ง 2 องค์ที่ออกมาจากแม่พิมพ์ตัวเดียวกันก็จะมีรายละเอียดของแม่พิมพ์เหมือนๆ กัน ลองเปรียบเทียบดูนะครับ ทั้งรายละเอียดขององค์พระ เส้นซุ้ม เส้นขอบ แม่พิมพ์

ข้อนี้สำคัญนะครับ เนื่องจากเส้นขอบแม่พิมพ์นั้นเป็นเรื่องสำคัญของพระสมเด็จทั้งของวัดระฆังฯ และของวัดบางขุนพรหมเลยทีเดียวครับ สำคัญอย่างไร? ก็เป็นร่องรอยการผลิตอย่างหนึ่ง ที่พระปลอมในสมัยก่อนเขาไม่รู้ก็เลยทำไม่ได้ หรือไม่ได้ทำ แต่พระปลอมที่ออกมาประมาณสัก 20 ปีมานี้เขาเริ่มทำกันแล้วครับ แต่ทำอย่างไรก็ไม่เหมือนร้อยเปอร์เซ็นต์ครับ เนื่องจากความจริงในทุกๆ ส่วนของร่องรอยการผลิตนั้นมีความลับซ่อนอยู่แทบทุกจุดครับ

เอามาคุยถึงพระสมเด็จ วัดระฆังฯ พิมพ์ใหญ่อกกระบอกกันต่อครับ สังเกตดูนะครับ ที่หน้าอกของพระทั้ง 2 องค์จะเห็นว่าช่วงลำตัวจากใต้รักแร้ลงมาจนถึงมือที่ประสานกันจะลงมาเกือบตรงๆ ไม่ค่อยจะคอดเว้าอะไรเท่าไรลักษณะคล้ายทรงกระบอก จึงเรียกกันแบบนั้น สังเกตดูพระทั้ง 2 องค์ จะมีลักษณะเหมือนกัน นอกจากที่พระเกศหรือเส้นซุ้มด้านบนจะดูเหมือนเขยื้อนติดแม่พิมพ์ไม่ค่อยดี องค์ที่มีผิวค่อนข้างขาวจะติดแม่พิมพ์ได้ดีกว่าอีกองค์หนึ่งจึงเห็นว่าจุดเขยื้อนน้อยกว่า

อีกองค์เราจะเห็นว่ามีส่วนของการเขยื้อนเห็นได้ชัดโดยเฉพาะเส้นซุ้มด้านบน ซึ่งพระแม่พิมพ์นี้จะเป็นเช่นนี้ทุกองค์ แต่การเขยื้อนมากน้อยนั้นแล้วแต่องค์ครับ ก็เป็นตำหนิเฉพาะองค์ การเขยื้อนนี้อาจจะเป็นได้ว่าเนื่องมาจากตัวแม่พิมพ์ จึงสันนิษฐานว่าพระที่ออกมาจากแม่พิมพ์นี้อาจจะมีตำหนิทุกองค์จึงสร้างออกมาน้อยกว่าแม่พิมพ์อื่น สิ่งเหล่านี้เป็นร่องรอยการผลิตอย่างหนึ่ง

มาดูกันที่ผิวพระถ้าดูจากรูป จะเห็นว่าผิวของพระทั้ง 2 องค์ไม่เหมือนกันสีก็ไม่เหมือนกัน นั้นก็อยู่ที่ธรรมชาติขององค์พระ องค์ที่มีผิวขาวนวล เป็นผิวพระแบบธรรมชาติดั้งเดิม ส่วนอีกองค์นั้นเป็นแบบธรรมชาติปรุงแต่ง พระองค์นี้เราจะเห็นสีเข้มๆ และมีจุดสีเข้มๆ ทั่วบริเวณองค์พระนั้นเนื่องมาจากพระองค์นี้มีการลงรักมาแต่ดั้งเดิม สันนิษฐานว่าน่าจะลงรักตั้งแต่ตอนที่สมัยการสร้างพระเลย ทำไม? ก็ให้สังเกตดูครับว่าพระองค์นี้มีการแตกลายงาที่พื้นผิว การแตกลายงานี้เกิดขึ้นจากการที่ลงรักมาแต่เดิมในสมัยที่สร้างพระใหม่ๆ พอผ่านกาลเวลาการหดตัวของผิวพระกับวัสดุที่เคลือบผิวไว้มีการหดตัวต่างกัน จึงมีความตึงผิวที่ต่างกันทำให้เกิดร่องรอยตามที่เห็นเมื่อเราลอกรักออก

ในตรงนี้ถ้าศึกษาลงไปลึกๆ ก็จะมีเหตุผลอธิบายได้ และพวกปลอมพระยังไม่รู้ว่าเป็นเช่นไรก็ทำปลอมพระแตกลายงาได้ไม่เหมือนครับ พระที่ลงรักมาก่อน แล้วลอกรักออกมาให้เห็นองค์พระชัดๆ ผิวของพระก็จะเป็นอย่างที่เห็นจะสวยซึ้งไปอีกแบบหนึ่ง เป็นผิวที่แตกลายงา มีเสน่ห์ไปอีกแบบครับ

ด้านหลังองค์พระของทั้ง 2 องค์ก็ทิ้งร่องรอยการผลิตไว้ให้เห็นต้องลองสังเกตดูดีๆ ครับ อาจจะเห็นได้ครับ ผมขออนุญาตยังไม่บอกจุดนี้นะครับ เพราะพวกทำพระปลอมก็อยากจะรู้เหมือนกัน ลองสังเกตดูครับว่าพระสมเด็จวัดระฆังฯ และสมเด็จวัดบางขุนพรหม ด้านหลังก็ทิ้งร่องรอยการผลิตไว้ต่างกันครับ และทั้ง 2 วัดก็มีเอกลักษณ์ในร่องรอยการผลิตของเขาไว้ครับ

วันนี้ผมนำรูปพระสมเด็จ วัดระฆังฯ พิมพ์ใหญ่อกกระบอกมาให้ชมเปรียบเทียบกัน 2 องค์ และที่สำคัญพระทั้ง 2 องค์นี้แท้ตามมาตรฐานสังคมนิยม และมีมูลค่าราคารองรับสูงครับ

ด้วยความจริงใจ

แทน ท่าพระจันทร์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน