รู้ได้ไงเก๊-แท้ใครเกิดทัน? – สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน วลีที่ว่า “เกิดทันหรือ?” มีการพูดอยู่บ่อยๆ ตั้งแต่สมัยก่อนนานมาแล้ว ซึ่งโดยส่วนมากที่เกิดวลีนี้มาจากผู้ที่นำพระมาขาย แต่ขายไม่ได้ไม่มีใครรับซื้อ ก็เกิดความไม่พอใจจึงกล่าววลีนี้ขึ้นมาจากความไม่พอใจที่ไม่มีใครซื้อ

ครับช่วงนี้มีกระแสนี้เกิดขึ้นจากเรื่อง พระสมเด็จที่เป็นพระที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) สร้างไว้ การเล่นหาศึกษาก็แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ พวกหนึ่งเล่นหาสะสมตามมาตรฐานสังคม มีมูลค่ารองรับ กับอีกกลุ่มหนึ่งที่เล่นหาแบบไม่มีมูลค่ารองรับ ส่วนใหญ่ก็ศึกษามาจากตำราบ้าง บอกต่อกันมาบ้างแล้วก็ตั้งมาตรฐานของกลุ่มตนเอง

ที่ศึกษาตามแบบตำราก็ไม่มีใครเกิดทัน ทั้งสิ้น และในปัจจุบันก็มีมากมายหลากหลายตำราที่อ้างว่าถูกต้องทั้งสิ้น แต่ก็มีแบบที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงก็มี ตำราที่ว่าเก่าแก่ ก็เป็นตำราที่ว่าเป็นฉบับ พระยาทิพโกษา (สอน โลหะนันทน์) ที่ตีพิมพ์ในปี พ.ศ.2473 ฉบับพระครูกัลยานุกูล (เฮง อิฏฐาจาโร) ตีพิมพ์ในปี พ.ศ.2492 ฉบับตรียัมปวาย ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ.2495 ฉบับฉันทิชัย ตีพิมพ์ พ.ศ.2495 เรามาดูกันว่าหนังสือเหล่านี้ใครเป็นผู้ที่เขียนแล้วเกิดทันเจ้าประคุณสมเด็จหรือไม่ เชื่อถือได้แค่ไหน

ฉบับแรกคือฉบับพระยาทิพโกษา (สอน โลหะนันทน์) ซึ่งความจริงแล้วผู้เขียนคือ พระมหา ม.ล.สว่าง เสนีย์วงศ์ วัดสระเกษ ผู้ซึ่ง นายพร้อม สุดดีพงศ์ คนตลาดไชโย อ่างทอง เดินทางลงมาหาเพื่อขอให้สืบค้นเรื่องราวของสมเด็จโต เพราะชาวบ้านที่นั่นอยากรู้ประวัติของเจ้าประคุณสมเด็จฯ พระมหา ม.ล.สว่างจึงพานายพร้อมไปยังวัดระฆังฯ นมัสการถามเจ้าคุณธรรมถาวร (ช่วง) อดีตผู้ใกล้ชิดเจ้าประคุณสมเด็จฯ ก็สรุปว่าผู้เขียนเองก็เกิดไม่ทันเจ้าประคุณสมเด็จฯ ก็รวบรวมจากคำบอกเล่า แล้วจึงนำมาเขียนเป็นหนังสือ โดยใช้ชื่อว่า “ฉบับเจ้าพระยาทิพโกษา (สอน โลหะนันทน์)” ซึ่งท่านเองก็ไม่ใช่ผู้ที่เขียนหนังสือเล่มนี้

ฉบับ พระครูกัลยา นานุกูล วัดกัลยาณมิตร เขียนครั้งแรกและตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2492 ขณะยังเป็นพระมหาเฮง โดยนำเค้าโครงมาจากฉบับของพระยาทิพโกษาฯ มาเขียนใหม่ โดยแก้ไขบางตอน และได้ข้อมูลเพิ่มเติมจากหลายท่านที่ได้รับคำบอกเล่ามาอีกที

ฉบับตรียัมปวาย นามปากกาของ พ.อ.ผจญ กิตติประวัติ ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2495 และพิมพ์อีก 4 ครั้ง ตีพิมพ์ครั้งสุดท้าย เมื่อปี พ.ศ.2515 เป็นครั้งที่ 5 ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมข้อมูลเป็นครั้งสุดท้าย โดยมีข้อมูลจากการไปสอบถามจากหลายคน คนที่สำคัญที่สุดคือนายกนก สัชฌุกร ซึ่งเป็นผู้นิยมพระเครื่องท่านหนึ่ง และได้เข้าไปสอบถามจดบันทึกข้อมูลจากท่านเจ้าคุณธรรมถาวร (ช่วง)

ฉบับของฉันทิชัย อันเป็นนามปากกาของ ฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ ผู้ที่เริ่มมีการออกอากาศรายการวิทยุในปี พ.ศ.2492 แล้วมาจัดพิมพ์ในนิตยสารตำรวจในปี พ.ศ.2495 แล้วรวมเล่มในปีเดียวกัน

(ข้อมูลหนังสือทั้ง 4 ฉบับได้รับการค้นคว้ามาจาก ม.ล.ชัยนิมตร นวรัตน ขอขอบคุณในข้อมูลความรู้มา ณ ที่นี้ด้วยครับ)

ครับตำราต่างๆ นั้นก็ไม่มีใครเกิดทันเจ้าประคุณสมเด็จฯ ทั้งสิ้น เป็นการจดบันทึกจากการบอกเล่าทั้งสิ้น ส่วนใหญ่ในตำราก็บอกถึงประวัติของเจ้าประคุณฯ สมเด็จฯ ซึ่งจะถูกต้องทั้งหมดหรือไม่ก็ยังไม่มีบทสรุปที่เป็นทางการ บางฉบับก็มีการกล่าวถึงการสร้างพระของ เจ้าประคุณสมเด็จฯ แต่ก็นั่นแหละครับผู้เขียนทั้งหมดก็ยังไม่มีใครที่เกิดทันเจ้าประคุณสมเด็จฯ

ทีนี้พระสมเด็จฯ ที่มีการสะสมศึกษาเล่นหากันนั้น ในปัจจุบันก็ไม่มีใครเกิดทันทั้งสิ้นเช่นกัน แต่ก็มีอยู่กลุ่มหนึ่งที่ได้ศึกษาจากองค์พระสืบต่อกันมาตั้งแต่ครั้งที่เจ้าประคุณสมเด็จฯ มรณภาพไปได้ไม่นานนัก มีการสืบค้นหาหลักฐานและเหตุผลประกอบ จนเป็นที่ยอมรับของสังคมพระเครื่อง และมีมูลค่ารองรับมาจนทุกวันนี้ ไม่แค่นั้นมูลค่ายังสูงขึ้นเรื่อยๆ จนถึงหลักล้านในปัจจุบัน

ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งก็ศึกษาประวัติข้อมูลที่มีผู้เขียนขึ้นภายหลังจากนั้นอีก ก็มีอีกหลายตำรา ส่วนมากก็จะกล่าวถึงเรื่ององค์พระสมเด็จเป็นหลัก วิธีการสร้างการดูพิสูจน์ ซึ่งผู้เขียนตำราก็ไม่มีใครเกิดทันเจ้าประคุณสมเด็จฯ ทั้งสิ้น ต่อมายังมีการกล่าวอ้างถึงสมุดข่อยโบราณเขียนบันทึกถึงการสร้างพระสมเด็จต่างๆ นานา กล่าวถึงจำนวนและแม่พิมพ์ด้วย ก็ว่ากันไปครับ

แต่ที่แน่ๆ ก็คือพระสมเด็จที่ถูกต้องมาตรฐานสังคมยอมรับนั้นมีมูลค่ารองรับสูงเป็นหลักล้านบาทและก็มีผู้รับซื้อหรือรอเช่าหาอยู่เสมอ เท่าที่ผมเห็นเองนะครับ ตอนนี้ถ้าใครซื้อพระสมเด็จที่ถูกต้องตามมาตรฐานสังคมมาไว้นานแล้วยิ่งหลายสิบปียิ่งดี นำไปคืนรับรองว่าคืนได้เงินครบแน่นอน และผู้รับคืนก็ยินดีมาก เนื่องจากในปัจจุบันมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นมาก นอกจากจะได้เงินคืนครบแล้วยังได้มูลค่าเพิ่มอีกด้วยครับ ทดลองพิสูจน์ได้ครับ

ยกตัวอย่างเช่น ทองคำก็ย่อมเป็นทองคำ เช่นใครซื้อทองคำในสมัยเมื่อทองคำบาทละ 400 มาขายตอนนี้ก็มีมูลค่าสูงขึ้นหลายเท่าตัวครับ พระแท้ถูกต้องตามมาตรฐานสังคมก็เช่นกันครับ ถ้าคิดว่าเป็นการอุปโลกน์หลอกลวงก็คงไม่ยืนยงมาจนถึงทุกวันนี้ครับ นอกจากนี้ยังมีมูลค่าเพิ่มขึ้นตลอดมาครับ

วันนี้ผมขอนำรูปพระสมเด็จ กรุวัดบางขุนพรหม พิมพ์เส้นด้ายที่ถูกต้องตามมาตรฐานสังคมยอมรับและมีมูลค่ารองรับหลักหลายล้านบาทมาให้ชมครับ

ด้วยความจริงใจ

แทน ท่าพระจันทร์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน