พันธุ์แท้พระเครื่อง

ราม วัชรประดิษฐ์

พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เป็นพระมหาปราสาทองค์สำคัญยิ่งในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นพระที่นั่งองค์ประธานของหมู่พระมหาปราสาท ตั้งแต่เมื่อปีพ.ศ.2332 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง “พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท” ขึ้นบนพื้นที่ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของ “พระที่นั่งอมรินทราภิเษก มหาปราสาท” ซึ่งถูกฟ้าผ่าไหม้จนหมด พระราชทานนามว่า “พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท” เมื่อสร้างแล้วเสร็จ พระองค์ทรงใช้พื้นที่บริเวณท้องพระโรงเสด็จออกว่าราชการด้วย

พระที่นั่งองค์นี้มีความงดงามด้วยศิลปะแบบไทยบริสุทธิ์ จนได้รับการยกย่องว่าเป็นสถาปัตยกรรมชั้นเอกของกรุงรัตนโกสินทร์ และเป็นพระที่นั่งทรงไทยแท้องค์เดียวในพระบรมมหาราชวัง โดยเฉพาะเรือนยอดพระมหาปราสาท (กุฎาคาร) มีรูปทรงต้องด้วยศิลปะลักษณะอันวิจิตรงดงาม

พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทเป็นพระที่นั่ง 1 ชั้น สถาปัตยกรรมทรงปราสาทแบบจตุรมุข ด้านเหนือมีมุขเด็จยื่นออกมา เป็นพระที่นั่งก่ออิฐถือปูนฐานสูง 2.85 เมตร ชั้นล่างเป็นเชิงฐาน ถัดไปเป็นฐานสิงห์และฐานเชิงบาตรสองชั้นหลังคาเป็นยอดทรงปราสาท ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ นาคสะดุ้ง คันทวย มีลักษณะเป็นพญานาค 3 หัว หน้าบันจำหลักรูปพระนารายณ์ทรงสุบรรณ ล้อมรอบด้วยลายกนกเทพพนมมุม ยอดปราสาททั้ง 4 มุมเป็นรูปลายพญาครุฑ หน้าบันจำหลักรูปพระนารายณ์ทรงครุฑไขรา รอบปราสาทเป็นรูปครุฑยุดนาครองรับ

ภายในพระที่นั่งประดิษฐานพระแท่นต่างๆ คือ “พระที่นั่งบุษบกมาลา” เป็นพระแท่นสำหรับประดิษฐานพระสยามเทวาธิราช เมื่อครั้งล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 9 เสด็จออกมหาสมาคม เนื่องในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี “พระแท่นราชบัลลังก์ประดับมุก” เป็นพระแท่นสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปต่างๆ “พระแท่นราชบรรจถรณ์ประดับมุก” เป็นพระแท่นที่สร้างขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ภายในประดิษฐานปูชนียวัตถุในพระราชพิธีสำคัญๆ

พระที่นั่งองค์นี้ยังเป็นที่ประดิษฐาน “พระบรมศพของพระมหากษัตริย์และพระบรมราชวงศ์ชั้นสูง” เมื่อล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 1 เสด็จสวรรคต ได้อัญเชิญพระบรมศพมาประดิษฐานไว้ จนกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติสืบมา สำหรับพระบรมศพสมเด็จพระมหากษัตราธิราชเจ้าและสมเด็จพระอัครมเหสีในรัชกาลต่อๆ มา

นอกจากนี้เป็นที่ประดิษฐาน “พระบรมศพ” พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร, สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า, สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว, สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี, พระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์, สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี

รวมถึงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร

พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทจึงเป็นพระที่นั่งคู่ “ราชวงศ์จักรี” มาทุกยุคทุกสมัย การได้เข้าไปร่วมถวายความอาลัยและสักการะพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ถึงเขตพระราชฐานชั้นกลาง นับเป็นความทรงจำครั้งสำคัญอันยิ่งใหญ่ในชีวิตคนไทยครับผม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน