คอลัมน์ มงคลข่าวสด

พระพรหมวชิรมงคล วัดราชาธิวาส – วันที่ 8 ก.ค.2564 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พระบรมราชโองการโปรดสถาปนา พระธรรมกวี ขึ้นเป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรอง มีราชทินนามตามที่จารึกในหิรัญบัฏว่า พระพรหมวชิรมงคล โสภณปริยัติวิธาน วิสุทธิญาณวิสิฐ ไพศาลศาสนกิจดิลก ตรีปิฎกวราลงกรณ์ ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี สถิต ณ วัดราชาธิวาส ราชวรวิหาร พระอารามหลวง กรุงเทพมหานคร มีฐานานุศักดิ์ตั้งฐานานุกรมได้ 8 รูป

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 7 ก.ค.2564 ประกาศ ณ วันที่ 8 ก.ค.2564 เป็นปีที่ 6 ในรัชกาลปัจจุบัน

ปัจจุบัน พระพรหมวชิรมงคล (ลือชัย คุณวุฑโฒ) สิริอายุ 91 ปี พรรษา 71 ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดราชาธิวาส แขวงวชิรพยาบาล เขตดุสิต กรุงเทพฯ และประธานมูลนิธิศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาฯ

มีนามเดิม ลือชัย ไสยวรรณโณ เกิดเมื่อวันที่ 7 ก.ค.2473 ที่บ้านทำนบ ต.ทำนบ อ.เมือง จ.สงขลา บิดา-มารดา ชื่อ นายหวานและนางยก ไสยวรรณโณ

เข้าพิธีอุปสมบท เมื่อวันที่ 5 ก.ค.2493 ที่วัดห้วยพุด ต.รำแดง อ.สิงหนคร จ.สงขลา พระอุปัชฌาย์ มีพระครูโสภณศีลาจาร (แดง โสภณเถร) พระครูจันทวิมล (คิ่น จันทคุตโต) เป็นพระกรรมวาจาจารย์

มุ่งมั่นศึกษาพระปริยัติธรรม พ.ศ.2495 สามารถสอบได้นักธรรมชั้นเอก ที่สำนักเรียนวัดมัชฌิมาวาส จ.สงขลา

พ.ศ.2499 ชักชวนหลวงปู่พระมหาจิต จิตตวโร (อดีตเจ้าอาวาสวัดควนจง) ออกไปภาวนาที่ป่าช้าปรักปริม วัดพุทธิการาม จ.สงขลา ได้ฟังธรรมะท่านพ่อลี ธัมมธโร เกิดศรัทธาแล้วถวายตัวเป็นศิษย์พร้อมกัน

เพียงไม่นาน หลวงปู่พระมหาปิ่น ชลิโต เดินทางมาสมทบ จึงออกท่องกัมมัฏฐานด้วยกัน ตั้งใจจะออกปฏิบัติภาวนา ไม่เรียนบาลี ซึ่งขณะนั้นท่านสอบได้เปรียญธรรม 6 ประโยค จึงขอกลับไปกราบลาพระอุปัฌชาย์

แต่พระอุปัฌาชาย์แนะนำให้ทำทั้งสองอย่างพร้อมกัน จึงเป็นเหตุให้ท่านต้องขึ้นมาเรียนบาลีที่วัดราชาธิวาส กรุงเทพฯ

ในขณะจำพรรษาอยู่ที่วัดราชาธิวาส ในสมัยพระศาสนโศภน (ปลอด อัตถการี) ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส มีการสอนพระกัมมัฏฐานที่วัดราชาธิวาส ซึ่งท่านเข้าร่วมปฏิบัติกัมมัฏฐานมาโดยตลอด

กาลต่อมา ได้รับมอบหมายจากพระสุธรรมาธิบดี (เพิ่ม อาภาโค) ซึ่งดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ให้เป็นผู้รับผิดชอบด้านการศึกษา เป็นครูสอนพระปริยัติธรรมแผนกธรรมและบาลี รวมทั้งได้รับมอบหมายภารกิจสนองงานเจ้าอาวาสอีกมากมาย

พ.ศ.2530 ครูใหญ่สำนักเรียนวัดราชาธิวาสวิหาร พ.ศ.2536 ผู้ช่วยแม่กองธรรมสนามหลวง

ท่านยังเป็นหัวหน้านำข้อสอบนักธรรมไปเปิดสอบที่วัดนิโครธาราม ประเทศมาเลเซีย

พ.ศ.2543 เป็นเจ้าสำนักเรียนวัดราชาธิวาสวิหาร และเป็นกรรมการมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์

สำหรับงานด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนา เป็นผู้แสดงธรรม บรรยายธรรม และแสดงปาฐกถาทั้งในวัด ในเขตปกครอง ในหน่วยงานของรัฐ เอกชน สถานศึกษา และสถานีวิทยุกระจายเสียงต่างๆ

ลำดับงานปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ.2512 ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชาธิวาส พ.ศ.2539 รักษาการเจ้าอาวาสวัดลิเจีย จ.กาญจนบุรี พ.ศ.2539 พระอุปัชฌาย์วิสามัญ พ.ศ.2540 เจ้าคณะแขวงวชิรพยาบาล (ธรรมยุต)

พ.ศ.2543 เจ้าอาวาสวัดราชาธิวาส พระอารามหลวง

ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2515 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระวิสุทธิคณาภรณ์ พ.ศ.2530 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชธรรมานุวัตร พ.ศ.2537 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพปัญญามุนี

พ.ศ.2543 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมกวี

ล่าสุด พระบรมราชโองการโปรดสถาปนาขึ้นเป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรอง มีราชทินนามตามที่จารึกในหิรัญบัฏว่า พระพรหมวชิรมงคล

กล่าวได้ว่า เป็นพระเถระมีภูมิรู้ มีภูมิธรรม เป็นผู้นำ เป็นพระสงฆ์ในด้านการปกครอง การศึกษา ตามลักษณะรูปแบบของการจัดการการปกครองของคณะสงฆ์ไทย ชีวิตส่วนตัวเป็นไปอย่างเรียบง่าย มักน้อย และสันโดษ

แต่การบริหารนั้นกล้าคิด กล้าทํา ทรงไว้ซึ่งสง่าราศีน่าเคารพยำเกรง เป็นที่เคารพนับถือของคณะสงฆ์ผู้ใต้ปกครอง และคณะศิษยานุศิษย์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน