อาตมาในนามฌาปนสถานวัดไผ่ล้อม จังหวัดนครปฐม และกองทุนสวด เผา ฟรี ของทางวัดไผ่ล้อม ขอแจ้งข่าวสารงานบุญที่ได้จัดไปเมื่อไม่นานนี้ โดยหลังจากที่วัดไผ่ล้อมเป็นฌาปนสถานสำหรับเผาร่างผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 มาตั้งแต่การระบาดในปี 2563 จนมาถึงการระบาดรอบนี้ ฌาปนสถานวัดไผ่ล้อมเผาศพทุกวัน วันละ 2-3 ศพ จนเตาที่มีอายุการใช้งานนับสิบกว่าปีเริ่มมีปัญหา

ดังนั้น อาตมาจึงให้เปลี่ยนเตาใหม่ พร้อมเพิ่มเตาอีกหนึ่งเตา ซึ่งเงินในการจัดซื้อนี้ก็เป็นเงินจากจิตศรัทธาของญาติโยมผ่านกองทุนสวด เผา ฟรี ของทางวัดไผ่ล้อมที่ร่วมกันบริจาค ทั้งก้อนเล็กก้อนใหญ่ ออกนามก็ดีไม่ออกนามก็ดี แต่รวมกันได้เป็นพลังอันยิ่งใหญ่ควรค่าการสรรเสริญและอนุโมทนา

ตามธรรมเนียมแต่โบราณ จะทำการใหญ่ใด ๆ พึงบอกกล่าวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เทพยดาฟ้าดินให้ได้รับรู้ จะได้มาอนุโมทนา มาอำนวยพรให้การทั้งหลายเป็นไปโดยสวัสดี ดังนั้น ในวันเสาร์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ.2564 อาตมาได้จัดพิธีบวงสรวงซ่อมแซมและสร้างเตาเผาศพปลอดมลพิษ โดยประกอบพิธีในภาคเช้า เป็นพิธีอย่างพราหมณ์ ส่วนพิธีภาคค่ำ เป็นพิธีอย่างจีน โดยประกอบพิธีตามตำรับตำราที่มีมา

เรื่องหนึ่งที่อาตมาไม่ทราบมาก่อน คือ วันที่อาตมากำหนดให้เป็นวันประกอบพิธีบวงสรวงนั้น เป็นวันที่ทางโหราศาสตร์จีนเรียกว่า “วันเทียงเสี่ย” แปลเป็นภาษาไทยว่า วันฟ้าอภัย อาตมาเพิ่งจะมาทราบหลังจากอาตมาได้กำหนดวันและจัดเตรียมทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว

ท่านว่าวันเทียงเสี่ย หรือวันฟ้าอภัยนั้น เป็นวันในทางโหราศาสตร์จีน ปีหนึ่งจะมีไม่กี่ครั้ง คือประมาณสี่ครั้งต่อปี ถือเป็นวันสะดวก จะทำสิ่งใดก็ไม่ต้องคำนึงถึงการชง หรือฤกษ์ไม่งามยามไม่ดีอะไร สมกับชื่อวันว่า ฟ้าอภัย เพราะไม่มีสิ่งใดจะก่อภัยขึ้นในวันนั้น ดังนั้น คนที่จะเริ่มลงมือทำการใหญ่ต่าง ๆ เช่น ปลูกสร้าง รื้อถอนอาคาร ก็มักใช้วันเทียงเสี่ยนี้เป็นวันเริ่มดำเนินการ

เพราะทำแล้วไม่มีภัย ไม่มีชง ทางสะดวก นอกจากนี้ บางคนก็ถือโอกาสวันอันไม่มีภัยนี้ ถอนคำสาบาน ถอนคำสาปแช่ง หรือแก้บน หรือใช้เป็นวันไหว้ฟ้าดินเพื่อขอขมาต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เทวดาฟ้าดินทั้งหลายว่าได้สำนึกต่อสิ่งที่เคยทำไม่ดีมา และขอให้เทวดาฟ้าดินโปรดประทานอภัยในความผิดพลั้งทั้งหลายที่ได้ทำมา

การพิธีบวงสรวงเพื่อสร้างเตาเผาใหม่ของฌาปนสถานวัดไผ่ล้อมนี้ จึงถือว่าจัดตรงลงในวันดี เป็นวันทางสะดวก ไม่ชง ไม่เป็นกาลกิณี ไม่มีอุปสรรคใด ๆ อาตมาจึงหวังว่าการสร้างเตาใหม่ในครั้งนี้จะอำนวยประโยชน์ นำพาผู้จากไปให้ไปสู่สุคติภพ

และเนื่องจากพิธีบวงสรวงนี้ได้จัดขึ้นในวันเทียงเสี่ย หรือวันฟ้าอภัย จึงเป็นโอกาสเหมาะที่จะกล่าวถึงเรื่องการให้อภัย

การให้อภัยเป็นทานอย่างหนึ่ง ถือเป็นการให้ทานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่คนหนึ่งคนจะให้ได้ จะบริจาคเงินแก่วัดเป็นร้อยล้านก็ไม่สู้อภัยทานแค่ครั้งเดียว เพราะอภัยทาน คือ การสละความโกรธ ความอาฆาตแค้น ชิงชัง พยาบาท ความเจ็บช้ำน้ำใจที่มีแก่บุคคลใด พูดแบบนี้ดูเหมือนจะเป็นของง่าย เหมือนตอนเล่นฟุตบอลกับเพื่อนแล้วเพื่อนวิ่งมาชนเราล้มก้นกระแทกพื้นสนามเสียระบม

แต่เราก็บอกว่าไม่เป็นไร ๆ อันนั้นคือการให้อภัยในชีวิตประจำวัน เราอาจจะไม่ได้รู้สึกพิเศษมากมายเพราะนั่นเป็นเพื่อนของเรา แต่การให้อภัยจะเป็นสิ่งที่ยากเสียยิ่งกว่าอะไรทั้งหมดถ้านั่นไม่ใช่การเล่นฟุตบอลกับเพื่อนในสนาม เป็นการกระทำของคนอื่นที่ไม่ได้รู้อกรู้ใจกัน หรือเป็นการกระทำของคนอื่นที่ไปปลุกความโมโห เช่น ขับรถไม่ถูกใจกันก็ไล่จี้เอาเรื่อง หรือให้อภัยการกระทำที่ร้ายแรงกว่านั้น เช่น ทำให้เสียทรัพย์ ไปจนถึงบาดเจ็บเลือดตกยางออก ฉ้อโกงทรัพย์สิน

การให้อภัยนั้นสำคัญอย่างไร ก็เพื่อชำระจิตใจของเราไม่ให้ถูกแผดเผาด้วยไฟโทสะ การให้อภัยเป็นเครื่องดับโทสะในใจเรา การที่ปล่อยให้โทสะแผดเผาในตัวเรานั้นเป็นของอันตราย เพราะจะทำให้เรามีอารมณ์ร้าย มีจิตขุ่นมัว ถือเป็นจิตที่ไม่มีคุณภาพ อยู่แล้วไม่มีความสุขอย่างแท้จริง

แต่หากได้ให้อภัยออกไปแล้ว นับว่าเราได้ปลดโซ่ตรวนพันธนาการความรุ่มร้อนในใจ ถือเป็นการระงับความโกรธอย่างยั่งยืน ถือว่าได้พัฒนาจิต ซึ่งต่างจากการปล่อยให้หายโกรธเองไปตามกาลเวลา เพราะปกติคนเราพอนานไปก็หายโกรธ ลืมเรื่องบาดหมาง แต่ว่าการหายโกรธแบบนั้น จิตมันไม่ได้รับการพัฒนา มันแค่เป็นไปตามธรรมชาติเท่านั้น

นอกจากการให้อภัยผู้อื่นแล้ว การให้อภัยคือการไม่เบียดเบียน ไม่ไปประทุษร้าย เหมือนกับที่หลาย ๆ วัด ปักป้ายว่าที่นี่เป็นเขตอภัยทาน ไม่ได้หมายความว่าเราไปให้อภัยแก่ปลาพวกนั้น แต่หมายถึงให้เราไม่ไปเบียดเบียน จับสัตว์ ทำร้ายสัตว์ ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต คนที่จิตไม่มีอภัย ก็คือจิตเป็นภัย ยังพร้อมจะเบียดเบียนผู้อื่น การให้อภัยทานนี้คือการไม่ไปประทุษร้ายต่อชีวิต ทรัพย์สิน ของบุคคลอื่น

ซึ่งถ้าพิจารณาดูดี ๆ นี่คือศีลห้า ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ผิดลูกเมีย ไม่พูดปด ไม่กินเหล้าของเมา พวกนี้ถ้าละเมิดก็คือการเบียดเบียนผู้อื่น การกินเหล้าเมายาก็คือทำให้ขาดสติ ทำให้เราทำผิดศีลข้ออื่น ถ้าเรามีจิตอภัยทานอันเป็นทานสูงสุดแล้ว เราจะสามารถรักษาศีล โดยพื้นฐานที่สุดคือศีลห้าได้อย่างสบาย อภัยทานนี่แหละคือพื้นฐานของการรักษาศีล

เมื่อรักษาศีลได้ มีอภัยทานเป็นเครื่องประคองการรักษาศีลของเรา เราก็จะสามารถพัฒนาจิตใจในขั้นภาวนาได้อย่างดีเช่นเดียวกัน ตรงนี้คือความเกี่ยวข้องกันเป็นทอด ๆ ทาน ศีล และภาวนา มันเกี่ยวข้องกันแบบนี้

ฉะนั้น อาตมาจึงขอเชิญชวนญาติโยมทุกท่าน ให้มีอภัยเกิดขึ้นในใจ อภัยนี้แหละคือรากฐานของชีวิตและจิตที่มีคุณภาพ ขอเจริญพร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน