‘พระกริ่งบาเก็ง-วัดเอี่ยมวรนุช’เพื่อหาทุนบูรณะวัด
เพื่อสร้างมณฑปวัดจันเสน‘รูปหล่อหลวงพ่อโอด’
“ธรรมเกิดเพราะเหตุรู้จักแล้ว เห็นแล้ว เกิดอย่างนี้นี่เอง จากนั้นมาไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง นอน ก็มีแต่ความสนุกเบิกบาน” สารธรรมมงคล หลวงพ่อชา สุภัทโท วัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี
…ในปี พ.ศ.2506 “พระครูวิสัยโสภณ” หรือ “หลวงปู่ทิม ธัมมธโร” พระเกจิอาจารย์ชื่อดัง วัดช้างให้ จ.ปัตตานี ผู้สร้างตำนานพระเครื่องหลวงพ่อทวดที่โด่งดัง ได้รับนิมนต์ให้ขึ้นมาช่วยวัดประสาทบุญญาวาสที่ถูกไฟไหม้ ในครั้งนั้น ไปพักที่วัดเอี่ยมวรนุช และทางวัดได้จัดการสร้างวัตถุมงคลเพื่อหาทุนมาบูรณะวัด พระกริ่งบาเก็ง วัดเอี่ยมวรนุช บางขุนพรหม สร้างโดยการถอดพิมพ์ของ พระกริ่งบาเก็งนอก พระอาจารย์ทิม เป็นเจ้าพิธีในการสร้างและปลุกเสก เททองที่วัดเอี่ยมวรนุช เมื่อวันที่ 25 พ.ย.2506 มีจอมพลประภาส จารุเสถียร เป็นประธานฝ่ายฆราวาส สร้างประมาณ 3,000 องค์ เนื้อองค์พระสี เหลืองนวลแซมสีน้ำตาล เทแบบหล่อตันทั้งองค์ แล้วจึงนำมาเจาะสว่านที่ใต้ฐาน บรรจุเม็ดกริ่ง ก่อนอุดด้วยทองชนวน กล่าวได้ว่า ได้รับความสนใจมาก เป็นที่นิยมก็รองลงมาจากพระกริ่งของท่านเจ้าคุณศรีสนธ์เท่านั้น
…ในปี พ.ศ.2531 “พระครูนิสัยจริยคุณ” หรือ “หลวงพ่อโอด ปัญญาธโร” อดีตเจ้าอาวาสวัดจันเสน ต.จันเสน อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ พระเกจิอาจารย์ชื่อดัง จัดสร้างมณฑปบรรจุพระธาตุ ส่วนชั้นล่างจะใช้เป็นที่ประชุมสงฆ์ และเป็นพิพิธภัณฑ์เก็บวัตถุโบราณของเมืองจันเสน จึงดำริจัดสร้างวัตถุมงคล “รุ่นสร้างมณฑป” เป็นรูปหล่อเหมือนปั๊มลอยองค์ เพื่อหาทุนทรัพย์ในการสร้าง
…จัดสร้างทั้งหมด 4 เนื้อ คือ เนื้อเงิน เนื้อทองเหลือง เนื้อทองแดง และเนื้อตะกั่ว มีโค้ดตอกทุกเนื้อ สร้างขึ้นก่อนมรณภาพเพียง 1 ปี ด้านหน้ารูปหล่อเหมือน มีตัวหนังสือนูน เขียนว่า “พระครูนิสัยจริยคุณ” พร้อมปั๊มอักขระขอมตัวนะ จำนวน 3 ตัว ที่สังฆาฏิด้านหน้า ด้านหลัง บริเวณใต้ฐานเขียนว่า “วัดจันเสน” เป็นวัตถุมงคลยอดนิยมที่ชาวปากน้ำโพเสาะแสวงหา
…พระสมเด็จวัดมฤคทายวัน สร้างในราวปี พ.ศ.2462 โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ หลวงปู่นาค เป็นเจ้าพิธีในการสร้าง เพื่อพระราชทานให้กับข้าราชบริพารและชาวบ้าน ในโอกาสเสด็จฯประทับแรม ณ พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน เป็นพระเนื้อผงทรงสี่เหลี่ยม คล้ายพระสมเด็จ วัดระฆังพิมพ์ปรกโพธิ์ของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) จัดสร้างด้วยกันกว่า 20 พิมพ์ ทุกพิมพ์จะมีเอกลักษณ์เฉพาะ
…สำหรับ พระสมเด็จวัดมฤคทายวัน พิมพ์ปรกโพธิ์ ลักษณะแม่พิมพ์ด้านหน้า องค์พระประธานประทับนั่ง แสดงปางสมาธิอยู่เหนืออาสนะ ด้านหลังองค์พระประธานเป็นโพธิบัลลังก์ ภายในซุ้มเรือนแก้ว ส่วนแม่พิมพ์ด้านหลัง เป็นยันต์ตรีนิสิงเห เป็นพระพิมพ์ที่มีความงดงาม
…“หลวงพ่อม่วง จันทสโร” วัดบ้านทวน อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี พระเกจินามกระเดื่องแห่งเมืองกาญจนบุรี เหรียญรูปเหมือนหลวงพ่อม่วง คณะศิษย์จัดสร้างขึ้นในโอกาสที่หลวงพ่อม่วง มีอายุครบ 7 รอบ (84 ปี) เมื่อปี พ.ศ.2463 ลักษณะเป็นทรงกลมรูปไข่ มีหูเชื่อมจัดสร้าง 2 พิมพ์ คือ พิมพ์หน้าแก่และพิมพ์หน้าหนุ่ม จำนวนการสร้าง 300 เหรียญ
…ด้านหน้าเป็นรูปเหมือนหลวงพ่อม่วงครึ่งองค์หันหน้าตรง เขียนอักษรไทยใต้รูปเหมือนว่า “พระครูสิงคิคุณธาดา” และมีอักษรขอมอ่านว่า “อะ สัง วิ สุ โล ปุ สะ พุ ภะ สัง วิ เพา ปุ กะ ยะ ปะ” แปลว่า อิติปิโส มงคลฯ กับหัวใจพระธรรม 7 คัมภีร์ ด้านหลังมีข้อความว่า “ที่ระฤก อุปชาวัดบ้าทวน” และมีอักษรขอมว่า “อิโส มิโส โมอะ นะลือ” เหรียญรุ่นนี้ หลวงพ่อม่วง จารอักษรขอม ลงบนบล็อกทั้งด้านหน้าและด้านหลังด้วยมือท่านเอง
…“พระครูวิสุทธิวงศาจารย์ญาณมุนี” หรือ หลวงพ่อแช่ม พระเกจิชื่อดังแห่งวัดไชยธาราราม (วัดฉลอง) อ.เมือง จ.ภูเก็ต หลังจากมรณภาพเมื่อปี พ.ศ.2451 กระทั่งในราวปี พ.ศ.2473 ต่อมาปี พ.ศ.2486 หลวงพ่อช่วง พระน้องชายก็สร้างเหรียญที่ระลึกขึ้น นับเป็นเหรียญรุ่นแรก
…ลักษณะเป็นทรงกลมรูปไข่ มีหู เป็นพิมพ์หลังยันต์วรรค เนื้อทองแดง ด้านหน้าเป็นรูปเหมือนหลวงพ่อแช่มครึ่งองค์ หันหน้าตรง ตาลึกคมชัดทั้งสองข้าง ขอบบนเขียนคำว่า “หลวงพ่อแช่ม วัดฉลอง” ด้านล่างใต้รูปเหมือนเขียนคำว่า “พ.ส.2486” ที่บริเวณปลาย “ส” ที่คำว่า “พ.ส.” สะบัดหาง ด้านหลังขอบปลิ้นยันต์แถว 2 เว้นวรรคตรงกลาง เป็นที่มาของชื่อ “ยันต์วรรค” ปัจจุบันหายาก
…“หลวงพ่อเสน่ห์ กตปุญโญ” เจ้าคณะตำบลหนองขาหย่าง-ท่าโพ และ เจ้าอาวาสวัดพันสี ต.ท่าโพ อ.หนองขาหย่าง จ.อุทัยธานี พระเกจิอาจารย์เรืองวิทยาคม ในปี พ.ศ.2520 คณะศิษย์มีความประสงค์หาทุนทรัพย์ เพื่อบูรณปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุ จึงขออนุญาตจัดสร้าง “เหรียญรุ่นแรก” เป็นเนื้อทองแดงรมดำ จำนวน 4,000 เหรียญ
…ลักษณะเป็นรูปวงกลม ด้านบนเป็นลายกนกทรงสามเหลี่ยมหน้าจั่ว เจาะหูห่วงที่ยอดกนก ด้านหน้าตรงกลางเป็นรูปนูนหลวงพ่อเสน่ห์ครึ่งองค์หันหน้าตรง ด้านหน้ามีขอบ เหนือขอบล่างมีอักษรไทยเขียนว่า “เสน่ห์” ด้านหลังไม่มีขอบ ซุ้มสามเหลี่ยมหน้าจั่วไม่มีลายกนก แต่มีอักษรไทยเขียนว่า “รุ่นแรก” และเหนืออักษรไทยมีอุณาโลมกำกับ ตรงกลางมียันต์อักขระ “นะ” ซ่อนหัว หรือ “นะ” สำเร็จ ใต้ยันต์มีเลขไทย “๒๕๒๐” เหนือขอบด้านล่างมีอักษรไทยเขียนว่า “วัดพันสี อุทัยธานี” กำกับด้วยลายกนกหัว-ท้าย พิธีการจัดสร้างดี พระคณาจารย์ปลุกเสกเด่น…
อริยะ เผดียงธรรม
[email protected]