วันศุกร์ที่ 5 ก.ค.2567 น้อมรำลึกครบรอบ 103 ปี ชาตกาล “พระครูธรรมาภิราม” หรือ “หลวงปู่ชาย อัตตทันโต” อดีตเจ้าอาวาสวัดบ้านศาลา ต.หนองกุงสวรรค์ และอดีตรองเจ้าคณะอำเภอโกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม พระเกจิอาจารย์อีกรูปหนึ่งที่เรืองวิทยาคม มีชื่อเสียงโด่งดังในพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม ร่วมสมัยกับหลวงปู่สิงห์ คัมภีโร วัดบ้านศรีสุข
เกิดในสกุล สุทธิวิเศษ เมื่อวันที่ 5 ก.ค.2464 ที่บ้านศาลา ต.เหล่า อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม บิดา-มารดา ชื่อ พ่อพา-แม่บุญมา สุทธิวิเศษ ครอบครัวประกอบอาชีพทำไร่ทำนา
ช่วงวัยเด็ก หลังจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนวัดบ้านหนองกุง ได้ลาออกมาช่วยงานครอบครัวแม้อยากจะเรียนต่อชั้นสูง แต่เนื่องจากครอบครัวฐานะยากจน
เมื่ออายุได้ 20 ปี ได้เข้าพิธีอุปสมบท ที่อุโบสถวัดอัมพวนาราม ต.แพง อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม โดยมีพระอาจารย์สงฆ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์ศรี เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระมหาทุย เป็นพระอนุสาวนาจารย์
จำพรรษาศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรม ที่สำนักเรียนวัดบ้านหนองแคน อ.โกสุมพิสัย สามารถสอบได้นักธรรมชั้นตรี ต่อมาวัดบ้านศาลาขาดแคลนพระผู้ใหญ่ บรรดาญาติโยมจึงนิมนต์ให้กลับมาจำพรรษาที่วัดบ้านเกิด
หลังกลับมาจำพรรษาที่วัดบ้านศาลา ได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจพัฒนาเสนาสนะ สาธารณูปโภค สาธารณูปการภายในวัดอย่างเต็มที่ รวมทั้งก่อตั้งสำนักเรียนเพื่อให้ภิกษุ-สามเณรได้มีที่ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย ไม่ต้องเดินทางไปเรียนไกลถึงในตัวอำเภอ
นอกจากนี้ ยังให้ความสนใจด้านวิทยาคม ในยุคนั้นชื่อเสียงของหลวงปู่ศรีธรรมศาสน์ วัดใต้โกสุม อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม โด่งดังไปทั่วอีสานกลาง จึงขอฝากตัวเป็นศิษย์ ซึ่งได้รับความเมตตาถ่ายทอดวิทยาคมให้จนหมดสิ้น
อีกทั้งยังได้ให้ความสนใจด้านวิปัสสนากัมมัฏฐาน แต่ด้วยความน้อยประสบการณ์ จึงตัดสินใจเข้ารับการอบรมและปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน ที่วัดมหาธาตุ กรุงเทพฯ กับพระพิมลธรรม (อาจ อสภเถระ) จนมีความรู้แตกฉานในเรื่องวิปัสสนากัมมัฏฐาน
เป็นผู้ชมชอบความสันโดษ หลังเทศกาลออกพรรษาทุกปี หลวงปู่จะออกเดินธุดงควัตรไปตามป่าเขาลำเนาไพรหลายแห่งในภาคอีสาน เพื่อแสวงหาความหลุดพ้นตามรอยพระตถาคต
พ.ศ.2499 หลวงปู่ชายได้ย้ายไปจำพรรษารับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสังข์ทองวนาราม ต.เหล่า อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม จากการที่ท่านเป็นพระนักปฏิบัติจึงตั้งสำนักวิปัสสนากัมมัฏฐาน และเปิดศูนย์อบรมวิปัสสนากัมมัฏฐานไปอีกหลายจังหวัด จนท่านได้รับตราตั้งให้เป็นพระวิปัสสนาจารย์ หัวหน้าจังหวัดมหาสารคาม
และจากความเคร่งครัดในพระธรรมวินัย วัตรปฏิบัติจำเริญรอยตาม หลวงปู่ศรีธรรมศาสน์ พระอาจารย์ เสมอต้นเสมอปลาย ทำให้หลวงปู่ชายมีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักในวงกว้างอย่างรวดเร็ว
หลวงปู่ชายพร่ำสอนญาติโยมอยู่เสมอว่าเกิด แก่ เจ็บ ตาย แขวนคออยู่ทุกย่างก้าว ดังนั้น จงอย่าดำรงชีวิตด้วยความประมาท ให้ประพฤติปฏิบัติแต่กรรมดีละเว้นชั่ว จะทำให้ชีวิตตนเองและครอบครัวประสบแต่ความสุขความเจริญตลอดไป
ลำดับงานปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ.2494 ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านศาลา พ.ศ.2499 เป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านสังข์ทองวนาราม
พ.ศ.2524 ตำแหน่งรองเจ้าคณะอำเภอโกสุมพิสัย
ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2517 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นตรีที่ “พระครูธรรมาภิราม” ต่อมาได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูชั้นโท และเอก ตามลำดับ ในราชทินนามเดิม
ในช่วงปัจฉัมวัย กลับมาจำพรรษาอยู่ที่วัดบ้านศาลา บ้านเกิด และช่วงนี้หลวงปู่ได้เริ่มมีอาการอาพาธบ่อยครั้ง ด้วยโรคเส้นเลือดในสมองตีบ สุดท้ายถึงแก่มรณภาพอย่างสงบใน พ.ศ.2543 สิริอายุ 79 ปี พรรษา 59
แม้จะละสังขารไปนานหลายปี แต่คุณงามความดียังคงปรากฏอยู่ในใจของชาวมหาสารคาม
เชิด ขันตี ณ พล