การตักบาตรเป็นประเพณีที่พุทธศาสนิกชนปฏิบัติกันมาแต่สมัยพุทธกาล พระภิกษุออกบิณฑบาตเพื่อรับอาหารหรือทานอื่นๆ ตามหมู่บ้านในเวลาเช้า ส่วนในวันพระ หรือวันธรรมสวนะ ก็จะไปตักบาตรที่วัด โดยจะนำของทำทานต่างๆ เช่น ข้าว อาหารคาว หวาน น้ำดื่ม เป็นการสร้างกุศล บูชาพุทธคุณ และแผ่ส่วนกุศลให้กับญาติผู้ล่วงลับ ถือเป็นการส่งเสริมคุณความดีของผู้ปฏิบัติและสืบทอดพระพุทธศาสนา
นายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ที่จังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อให้พุทธศาสนิกชนปฏิบัติตามหลักธรรมของพระพุทธศาสนา และส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนได้เข้าวัดทำบุญตักบาตรเป็นประจำทั้งในวันพระ วันหยุด และวันเสาร์-อาทิตย์ เป็นการเสริมสร้างความอบอุ่นและความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัว รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่นำสินค้าวัฒนธรรมของชุมชนมาจัดจำหน่าย อาทิ อาหารพื้นเมือง เสื้อผ้า และผลิตภัณฑ์ทางภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชนอีกด้วย การจัดพิธีตักบาตรจังหันในครั้งนี้ ได้รับความเมตตาจากพระศรีปริยัติวิมล รองเจ้าคณะจังหวัดอุตรดิตถ์ และเจ้าอาวาสวัดคลองโพธิ์ พระอารามหลวง เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ พร้อมด้วย พระสุรสิทธิ์ สุรปัญโญ รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดหาดสองแคว หัวหน้าส่วนราชการ และพุทธศาสนิกชนเข้าร่วมกิจกรรม ที่วัดหาดสองแคว อ.ตรอน จ.อุตรดิตถ์
“การตักบาตรหาบจังหัน” หรือประเพณีการหาบสาแหรก ของชุมชนคุณธรรมพลัง บวร บ้านหาดสองแคว จังหวัดอุตรดิตถ์ โดยคำว่า “จังหัน” หมายถึงภัตตาหารที่จะถวายแด่พระสงฆ์ในยามเช้า ขณะที่พระสงฆ์ออกบิณฑบาตตอนเช้า พระสงฆ์จากวัดหาดสองแควจะแบ่งสายกันออกเดินบิณฑบาตไปตามหมู่บ้าน 4 สาย/คุ้มบ้าน 4 หมู่บ้าน โดยจะแต่งตัวใส่เสื้อสีขาวทั้งผู้หญิงผู้ชาย และผู้หญิงใส่ผ้าถุงสีการตักบาตรด้วยข้าวสวยอย่างเดียว ส่วนอาหารคาว-หวาน จะมีนางหาบ/นายหาบ แต่งตัวชุดลาวเวียงวันละ 5-10 คน ทำหน้าที่สับเปลี่ยนหมุนเวียนหาบอาหารด้วยสาแหรกเดินตามพระเข้าวัด ซึ่งอาหารคาว-หวานที่หาบไป จะได้จากชาวบ้านนำอาหารไปวางไว้ที่แป้นเสาหน้าบ้านของแต่ละหลัง โดยนางหาบ/นายหาบจะเดินเก็บอาหารตามแป้นเสาหน้าบ้านแต่ละหลังไปตามเส้นทางไปจนถึงวัด
จากนั้นจะนำอาหารหรือจังหันถวายพระที่วัดในตอนเช้า ถือเป็นการเชื่อมบุญมาสู่คนในชุมชน หลังจากถวายพระแล้ว นางหาบ/นายหาบจะนำภาชนะใส่อาหารกลับไปวางคืนไว้ที่แป้นเสาหน้าบ้านของแต่ละหลังตามเดิม ซึ่งจะปฏิบัติเป็นประจำทุกวัน ยกเว้นวันพระหรือสำคัญทางศาสนาชาวบ้านจะไปตักบาตรที่วัด นอกจากนี้ ยังมีถนนสายวัฒนธรรมชุมชนลาวเวียง เป็นการจำลองตลาดย้อนยุคของชาวลาวเวียง ทั้งด้านการแต่งกาย ภาษา และอาหาร ที่มีเอกลักษณ์ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถมาสัมผัสวิถีลาวเวียงบ้านหาดสองแควได้ทุกวัน ซึ่งมีโฮมสเตย์มาตรฐานพร้อมตักบาตรหาบจังหันในช่วงเช้ากับชุมชนได้ ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ท่องเที่ยวลาวเวียงสไตล์ บ้านหาดสองแคว
ด้าน นายศิริวัฒน์ บุปผาเจริญ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์กล่าวเพิ่มเติมว่า การทำบุญตักบาตรหาบจังหัน ตามแนวคิด ครอบครัวหิ้วตะกร้า ศรัทธาอิ่มบุญ อุดหนุนชุมชนดังกล่าว ในวันธรรมสวนะ ซึ่งการตักบาตรหาบจังหันถือเป็นประเพณีของพี่น้องลาวเวียงบ้านหาดสองแคว ที่ได้อนุรักษ์ สืบสาน รักษา ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน
ทั้งนี้ กิจกรรมครอบครัวหิ้วตะกร้า ศรัทธาอิ่มบุญ อุดหนุนชุมชน ส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนและนักท่องเที่ยวทำบุญตักบาตร ไหว้พระ สวดมนต์ ปฏิบัติธรรม ที่วัดและแหล่งศาสนสถานต่างๆ ที่มีวัฒนธรรมและอัตลักษณ์โดดเด่นทางภูมิทัศน์วัฒนธรรม โดยเปิดจุด 10 เสบียงบุญ ประกอบด้วย 1.ตักบาตรทางเรือ วัดบำเพ็ญเหนือ กรุงเทพฯ 2.ตักบาตรริมโขง วัดมหาธาตุ จ.นครพนม 3.ตักบาตรข้าวเหนียว วัดศรีคุนเมือง จ.เลย 4.ตักบาตรหน้าวัด วัดมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.นครศรีธรรมราช 5.ตักบาตรสะพานบุญรับอรุณ วัดตระพังทอง จ.สุโขทัย
6.ตักบาตรบนเมก วัดเมธังกราวาส จ.แพร่ 7.ตักบาตรหมู่บ้านมอญห้วยน้ำใส จ.ราชบุรี 8.ตักบาตรหาบจังหัน วัดหาดสองแคว จ.อุตรดิตถ์ 9.ตักบาตรพระขี่ม้า วัดถ้ำป่าอาชาทอง 10.ตักบาตรสะพานซูตองเป้ จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งล้วนเป็นสถานที่ที่สะท้อนความศรัทธา ความเชื่อของแต่ละท้องถิ่น ด้วยการเข้าวัดในวันธรรมสวนะ และสนับสนุนสินค้าของชุมชนบริเวณรอบวัด
เพิ่มพูนรายได้ให้ประชาชนในชุมชนในมิติทางศาสนาอย่างยั่งยืน