การตักบาตรด้วยดอกไม้ ปรากฏตามพุทธตำนานว่า นายมาลาการ เป็นผู้ทำหน้าที่นำดอกมะลิสดไปถวายพระเจ้าพิมพิสาร พระราชาแห่งเมืองราชคฤห์ เป็นประจำทุกวัน มาวันหนึ่งขณะที่นายมาลาการออกไปเก็บดอกมะลิอยู่ในสวน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ กำลังเสด็จออกบิณฑบาตผ่านมา บังเกิดความเลื่อมใสจึงนำดอกมะลิ 8 กำมือ ไปถวายพระพุทธองค์

เมื่อพระเจ้าพิมพิสารราชาทรงทราบข่าวว่านายมาลาการได้ถวายดอกมะลิบูชา จึงเสด็จพระราชดำเนินไปถวายบังคมต่อพระศาสดา แล้วตามเสด็จพระศาสดาไปด้วยความเลื่อมใสศรัทธา ด้วยอานิสงส์อย่างสูงของการนำดอกมะลิบูชา แด่พระองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ชาวพุทธทั่วไปจึงถือเป็นประเพณีปฏิบัติ “ตักบาตรดอกไม้” อีกด้วย

สกู๊ปพระเครื่อง

 

นายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา (อศน.) กล่าวว่า ในเทศกาลวันเข้าพรรษา ปีนี้ ตรงกับวันที่ 21 ก.ค.2567 ประเพณีตักบาตรดอกไม้ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นและมีเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย คือ ประเพณีตักบาตรดอกเข้าพรรษา วัดพระพุทธบาท อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี กำหนดจัดวันที่ 19-21 ก.ค.2567 เป็นประเพณีตักบาตรดอกไม้แบบ “ท้องถิ่น” โดยเฉพาะการนำ “ดอกเข้าพรรษา” หรือ “ดอกหงส์เหิน” เพราะลักษณะของดอกและเกสรประดุจดังตัวหงส์ที่กำลังเหินบินด้วยท่วงท่าลีลาอันสง่างามมาทำบุญใส่บาตรพระภิกษุ ดอกชนิดนี้มีลักษณะคล้ายต้นกระชายหรือต้นขมิ้น สูงประมาณ 1 คืบ บางต้นก็มีดอกสีเหลือง บางต้นก็มีดอกสีขาว บางต้นก็มีดอกสีม่วง ดอกชนิดนี้จะขึ้นเฉพาะหน้าฝนเข้าพรรษาเท่านั้น

สกู๊ปพระเครื่อง

เมื่อถึงวันเข้าพรรษา คือ วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี ชาวอำเภอพระพุทธบาทจะเก็บดอกเข้าพรรษาตามไหล่เขาโพธิลังกา หรือเขาสุวรรณบรรพต เทือกเขาวง และเขาพุ ในเขตอำเภอพระพุทธบาทนำมาจัดรวมกับธูปเทียนเพื่อตักบาตรถวายพระ ซึ่งนอกจากจะได้บุญกุศลอันยิ่งใหญ่กับการถวายดอกเข้าพรรษาแด่พระภิกษุสงฆ์ที่เดินรับบิณฑบาตจากพุทธศาสนิกชนแล้ว พระภิกษุสงฆ์จะนำดอกเข้าพรรษาไปสักการะรอยพระพุทธบาทอันศักดิ์สิทธิ์ที่พุทธศาสนิกชนให้ความเคารพบูชา มีความเชื่อในคติชาวลังกาว่า พระพุทธเจ้าได้ประทับรอยพระพุทธบาทไว้ 5 แห่ง และรอยพระพุทธบาทที่วัดพระพุทธบาท นี้ เป็น 1 ใน 5 แห่งนั้น

สกู๊ปพระเครื่อง

ปัจจุบัน การตักบาตรดอกไม้ในวันเข้าพรรษาปรากฏในวัดหลายแห่งในกรุงเทพมหานคร เช่น วัดบวรนิเวศวิหาร วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก ส่วนในจังหวัดอื่นๆ เช่น วัดจินดามณี จ.สิงห์บุรี ซึ่งเป็นประเพณีตักบาตรดอกไม้ของชาวไทยพวนที่บ้านแป้ง เรียกตามภาษาท้องถิ่นว่า “ประเพณียายดอกไม้” กำหนดจัดในวันเข้าพรรษา วันที่ 21 ก.ค.นี้

อธิบดีกรมการศาสนา (อศน.) กล่าวต่อว่า “ตักบาตรดอกไม้” นับเป็นประเพณีอันเก่าแก่ ที่ควรค่าแห่งการอนุรักษ์ยิ่งเพราะหนึ่งปีมีหนึ่งครั้งเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ดอกเข้าพรรษา” สัญลักษณ์แห่งประเพณีตักบาตรดอกเข้าพรรษาของชาวสระบุรี ที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาในวันเข้าพรรษาของทุกๆ ปี อีกทั้งยังเป็นดอกไม้ประจำฤดูฝนอีกด้วย สำหรับอานิสงส์ของการตักบาตรดอกไม้จะส่งผลให้เป็นที่รักของผู้คนทั้งหลาย คนดีมีปัญญาย่อมชอบคบค้าสมาคมด้วย มีชื่อเสียงที่ดีงาม เป็นผู้ไม่ห่างไกลธรรม และเมื่อตายแล้วย่อมเข้าสู่สุคติโลกสวรรค์ เป็นการสั่งสมอริยทรัพย์ และเสบียงบุญให้ติดตามตัวได้ตราบนานเท่านาน

การตักบาตรด้วยอาหารหรือดอกไม้ ถือเป็นประเพณีที่ชาวพุทธปฏิบัติกันมาแต่สมัยพุทธกาล เป็นการสะสมบุญ การทำความดี ในพระไตรปิฎกได้ระบุวิธีการทำบุญ ไว้ 3 วิธีด้วยกัน ได้แก่ การให้ทาน ไม่ว่าจะเป็นทำบุญเลี้ยงพระ การตักบาตร ถวายสังฆทาน ดอกไม้และธูปเทียน การถือศีล คือ การประพฤติปฏิบัติตนให้อยู่ในศีล และการเจริญภาวนา เป็นการฝึกอบรมและขัดเกลาจิตใจของตัวเองให้ใสสะอาดยิ่งขึ้น บุญที่ถือเป็นการปฏิบัติเป็นทานด้วยการถวายอาหารหล่อเลี้ยงชีวิตพระสงฆ์ผู้สืบทอดพระศาสนา ตั้งมั่นศรัทธาในการรักษาศีล ตัดต้นเหตุแห่งทุกข์ และหมั่นเจริญจิตตภาวนาอยู่ในความบริสุทธิ์ให้แจ่มใสและเบิกบาน ช่วยให้จิตใจสงบสุข

อันเป็นหนทางของการหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวงอย่างแท้จริง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน