วันจันทร์ที่ 9 กันยายน 2567 สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จลงพระวิหาร วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ประทานพระวโรกาสให้พระสังฆาธิการเฝ้ารับประทานสำเนาพระบรมราชโองการและพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช ตามที่ได้มีพระบรมราชโองการโปรดแต่งตั้ง และตามที่มีพระบัญชาโปรดแต่งตั้ง ดังนี้
1.พระพรหมดิลก เจ้าอาวาสวัดสามพระยา เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม 2.พระพรหมสิทธิ วัดสระเกศ เป็นกรรมการมหาเถรสมาคมและเจ้าอาวาสวัดสระเกศ 3.พระพรหมเสนาบดี เจ้าอาวาสวัดปทุมคงคา เป็นที่ปรึกษามหาเถรสมาคม 4.พระพรหมวัชรเมธี เจ้าอาวาสวัดอรุณราชวราราม เป็นที่ปรึกษามหาเถรสมาคม 5.พระธรรมโพธิมงคล เป็นเจ้าอาวาสวัดนิมมานรดี และ 6.พระธรรมวชิรปัญญาภรณ์ เป็นเจ้าอาวาสวัดเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนนทบุรี
โอกาสนี้ สมเด็จพระสังฆราช ประทานพระโอวาท ความตอนหนึ่งว่า
“ในนามคณะสงฆ์ ผมขอถวายมุทิตา ในโอกาสที่สมเด็จบรมบพิตร พระราชสมภารเจ้า ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ มีพระบรมราชโองการโปรดให้ท่าน ดำรงตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคม และในโอกาสที่ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษามหาเถรสมาคม และเป็นเจ้าอาวาสพระอารามหลวง ซึ่งการทั้งนี้ อนุวัตสนองพระราชดำริของพระองค์ ผู้ทรงเป็นอัครพุทธศาสนูปถัมภก จึงขอให้ทุกท่าน ตั้งกัลยาณจิต ถวายพระพร ให้ทรงเจริญพระชนมสุขสิริสวัสดิ์ทุกประการ
ท่านทั้งหลายเป็นพระเถระผู้ใหญ่ เป็นหลักเป็นประธาน มีประสบการณ์สูง ในการบริหารการคณะสงฆ์ และการปกครองดูแลพระอารามกันมาแล้วทุกรูป เมื่อท่านได้รับตำแหน่งที่สมควรได้รับ สมควรได้ดำรงอยู่เช่นนี้แล้ว ก็ขออาราธนา เหมือนดังที่เคยอาราธนามาแล้วทุกครั้ง และได้เคยกล่าวย้ำอยู่เสมอๆ ว่าขอได้ช่วยกันปกป้องดูแลพระศาสนาของเรา ช่วยกันบริหารงานคณะสงฆ์ของเรา ไม่ว่าจะด้วยการอบรมสั่งสอน การจัดการศึกษา เผยแผ่ และปกครอง ให้พุทธบริษัททุกหมู่เหล่า ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติสมควร ปฏิบัติถูกต้อง ตามหลักธรรมคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้สอดคล้องต้องด้วยจารีตแบบแผน ที่บูรพาจารย์ของพวกเรา ได้สู้อุตสาหะสร้างสรรค์และพัฒนามาโดยลำดับ อย่างสุขุมคัมภีรภาพ ตามหลักการในพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา และคัมภีร์อันอ้างอิงได้ โดยไม่ถืออัตโนมติเป็นใหญ่ โดยไม่เห็นแก่ลาภสักการะ และไม่ตกอยู่ใต้อำนาจอคติ ไม่ว่าด้วยประการใดๆ
เมื่อท่านเป็นผู้ใหญ่ที่ยุติธรรมสม่ำเสมอ แม้ชีวิตอาจจะเผชิญโลกธรรมบ้าง ตามธรรมดาปกติวิสัย แต่ในที่สุดแล้ว มลทินโทษทั้งปวง ก็คงไม่อาจติดต้องพ้องพานท่านอยู่ตลอดไปได้ ถ้าทุกท่านมั่นในธรรมเป็นเครื่องยุติ มุ่งครองตนบนวิถีที่ปราศจากอคติเป็นแนวทาง ทั้งต่อการดำรงฐานะภาวะของตัวท่านเอง ทั้งต่อการจัดการหมู่คณะ ตลอดจนการพระศาสนาในภาพรวม ความยุติธรรมนั้น ย่อมจักช่วยเชิดชูประโยชน์ตน และประโยชน์ส่วนรวม ให้รุ่งเรืองสว่างไสวอยู่ ดุจดั่งดวงจันทร์ดิถีเพ็ญ อันผ่านพ้นจากมลทินของเมฆหมอก ที่บดบังได้เพียงชั่วครู่ชั่วยามฉะนั้น”