พระเทพสีมาภรณ์ (วันชัย กันตจารี) เจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา ประธานฝ่ายสงฆ์ และ น.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รมว.วัฒนธรรม ประธานฝ่ายฆราวาส นำคณะสงฆ์ ข้าราชการ และภาคส่วนต่างๆ ประกอบพิธีบำเพ็ญกุศลวันกตัญญูบูรพาจารย์ชาตกาล 101 ปี พระเทพวิทยาคม (หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ) เนื่องในวันคล้ายวันเกิดตรงกับวันที่ 4 ตุลาคมของทุกปี โดยพระสงฆ์ 10 รูป บำเพ็ญกุศลเจริญพระพุทธมนต์แผ่เมตตา เพื่อความเป็นสิริมงคล ท่ามกลางพุทธศาสนิกชน ญาติโยม ศิษยานุศิษย์ เข้าร่วมพิธีเป็นจำนวนมาก เมื่อเร็วๆ นี้ ที่วัดบ้านไร่ ต.กุดพิมาน อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา
ทั้งนี้ วัดบ้านไร่เตรียมจัดสร้างพระธาตุเจดีย์ศรีปริสุทฺโธ เพื่อบรรจุพระเกศาธาตุและอัฐบริขารของพระเทพวิทยาคม (หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ) โดยจำลองแบบมาจากพระธาตุนครพนมแบบ 2 ชั้น แต่ย่อขนาดลงเล็กกว่า ปั้นภาพนูนต่ำพระเทพวิทยาคม (หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ) และอัฐบริขาร พระเกศาธาตุ เพื่อไว้สักการบูชา
น.ส.สุดาวรรณกล่าวว่า ถึงแม้ว่าหลวงพ่อคูณละสังขารจากไปนานแล้ว แต่ที่วัดบ้านไร่ อ.ด่านขุนทด แห่งนี้ ยังคงมีศิษยานุศิษย์ที่ยังเลื่อมใสศรัทธาในหลวงพ่อคูณ เข้ามากราบสักการะและชมความสวยงามของพิพิธภัณฑ์หลวงพ่อคูณที่จัดสร้างอย่างวิจิตรตระการตา แสดงให้เห็นถึงแรงพลังศรัทธาของประชาชนที่ยังศรัทธาในตัวหลวงพ่อคูณและวัดบ้านไร่ ซึ่งวัดบ้านไร่ถือเป็นแลนด์มาร์กอีกแห่งหนึ่งที่สำคัญของจังหวัดนครราชสีมา เป็นแหล่งท่องเที่ยงเชิงศรัทธา ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายที่ชัดเจนในการผลักดันแหล่งท่องเที่ยวในแต่ละจังหวัดทั่วประเทศให้เกิดการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน สร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ ดังนั้น วัดบ้านไร่จึงเป็นเส้นทางท่องเที่ยววัฒนธรรมของจังหวัดนครราชสีมาที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง
หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ” วัดบ้านไร่ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา อดีตพระเกจิชื่อดังที่ชาวไทยให้ความเลื่อมใสศรัทธามากที่สุดรูปหนึ่งในปัจจุบัน
เอกลักษณ์ที่โดดเด่นแก่คณะศิษยานุศิษย์ผู้พบเห็นคือ การนั่งยอง พูดกูมึง ดำรงตนแบบสันโดษ จนกลายเป็นภาพที่เห็นกันชินตา
เกิดในสกุลฉัตรพลกรัง เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 4 ต.ค.2466 ที่บ้านไร่ ม.6 ต.กุดพิมาน อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา
อายุครบ 21 ปีเข้าพิธีอุปสมบท ที่พัทธสีมาวัดถนนหักใหญ่ ต.กุดพิมาน อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา เมื่อวันศุกร์ที่ 5 พ.ค.2487 ได้รับฉายาว่า ปริสุทโธ
ฝากตัวเป็นศิษย์หลวงพ่อแดง วัดบ้านหนองโพธิ์ ต.สำนักตะคร้อ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา
อยู่ปรนนิบัติรับใช้หลวงพ่อแดงมานานพอสมควร หลวงพ่อแดงจึงพาหลวงพ่อคูณไปฝากตัวเป็นศิษย์หลวงพ่อคง พุทธสโร
เวลาล่วงเลยผ่านไป กระทั่งหลวงพ่อคงเห็นว่าลูกศิษย์มีความรอบรู้ชำนาญการปฏิบัติธรรมดีแล้ว จึงแนะนำให้ออกธุดงค์จาริกไปตามป่าเขาลำเนาไพร ฝึกปฏิบัติธรรมเบื้องสูงต่อไป
ครั้งแรกท่องธุดงค์จาริกอยู่ในเขตจังหวัดนครราชสีมา จากนั้นจาริกออกไปไกลถึงประเทศลาว และประเทศเขมร
หลังจากที่พิจารณาเห็นสมควรแก่กาลแล้ว จึงออกเดินทางจากประเทศกัมพูชาเดินทางกลับสู่ประเทศไทย เดินข้ามเขตด้านจังหวัดสุรินทร์ สู่จังหวัดนครราชสีมา กลับบ้านเกิด
จากนั้นเริ่มดำเนินการก่อสร้างวัดบ้านไร่ เริ่มสร้างอุโบสถ กุฏิสงฆ์ ศาลาการเปรียญ ขุดสระน้ำไว้เพื่ออุปโภคและบริโภค และที่สำคัญยังสร้างโรงเรียนไว้เพื่อเด็กบ้านไร่อีกด้วย
เป็นพระนักพัฒนาที่มีสาธุชนให้ความศรัทธายิ่ง บริจาคทานจำนวนมหาศาล เพื่อเป็นสาธารณประโยชน์ให้แก่ประชาชนทั่วทุกภูมิภาคของประเทศและล่วงเลยไกลไปถึงในต่างแดนเลยทีเดียว
ลำดับสมณศักดิ์ วันที่ 12 ส.ค.2535 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระญาณวิทยาคมเถร
10 มิ.ย.2539 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราช ฝ่ายวิปัสสนาธุระที่ พระราชวิทยาคม
12 ส.ค.2547 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ฝ่ายวิปัสสนาธุระที่ พระเทพวิทยาคม
ด้วยอายุขัยที่ล่วงเลยเข้าสู่วัยชราภาพ บ่อยครั้งทำให้อ่อนแรง สุขภาพไม่แข็งแรงดังเดิม กระทั่งล้มป่วยอาพาธเป็นประจำ ต้องเข้าออกโรงพยาบาลหลายครั้ง
วันเสาร์ที่ 16 พ.ค.2558 ที่โรงพยาบาลมหาราช นครราชสีมา มรณภาพลงอย่างสงบ สิริอายุ 92 ปี พรรษา 71
สรีรสังขารบริจาคให้เป็นอาจารย์ใหญ่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ประสิทธิ์ ตั้งประเสริฐ