อำเภอกันทรวิชัย จ.มหาสารคาม มีอายุเก่าแก่นับพันปี เดิมชื่อ เมืองกันทาง หรือ เมืองคันธาธิราช ตั้งขึ้นเมื่อปีมะเส็ง จุลศักราช 147 (พ.ศ.1328) มีเจ้าเมืองปกครองหลายยุคหลายสมัย
ต่อมาก็ถึงยุคเสื่อมสลายกลายเป็นเมืองร้างไปนานกว่าพันปีเศษ กระทั่งเมื่อร้อยปีเศษที่ผ่านมา จึงมีประชาชนทยอยกันอพยพเข้ามาลงหลักปักฐาน ตั้งเป็นชุมชนขึ้น เป็นอำเภอกันทรวิชัย ในปัจจุบัน
นายสมชาติ มณีโชติ อาจารย์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ผู้เชี่ยวชาญทางโบราณคดี ให้ความเห็นสาเหตุการล่มสลายของเมืองกันทาง หรือ เมืองคันธาธิราช รวมทั้งเมืองโบราณอีกหลายแห่งในภาคอีสานที่เคยเป็นเมืองร้าง ว่าน่าจะมาจากหลายสาเหตุ อาทิ เกิดโรคระบาด เกิดภัยสงคราม หรือเกิดความเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติที่รุนแรง ทำให้ความอุดมสมบูรณ์ลดลง จึงต้องแสวงหาพื้นที่ทำกินใหม่ เป็นต้น
ย้อนไปในปี พ.ศ.2417 สมัยรัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้ง “บ้านกันทาง” เป็นเมือง “กันทะวิชัย” และตั้ง พระปทุมวิเศษ (คำมูล) เป็นเจ้าเมืองคนแรก ให้ขึ้นตรงต่อเมืองกาฬสินธุ์ จนถึงปี พ.ศ.2443 ได้ยุบเมืองกันทะวิชัยเป็นอำเภอ ชื่อว่า อำเภอกันทรวิชัย จนถึงปี พ.ศ.2456 ได้โอนอำเภอกันทรวิชัย จากเมืองกาฬสินธุ์ มาขึ้นกับจังหวัดมหาสารคาม
สำหรับความโดดเด่นของอำเภอกันทรวิชัย จากการขุดค้นทางโบราณคดีพบว่าอำเภอกันทรวิชัย มีร่องรอยคูน้ำ-คันดิน ปรากฏให้เห็นเด่นชัด สำคัญที่สุดคือการขุดพบศิลปะโบราณวัตถุโดยเฉพาะ “พระพิมพ์ดินเผากันทรวิชัย” เป็นจำนวนมาก
นอกจากนี้ ยังพบพระพุทธรูปยืนโบราณขนาดใหญ่ 2 องค์ แกะสลักจากหินทราย และจากหลักฐานที่ค้นพบหลายอย่าง นักโบราณคดีได้ระบุว่าเมืองกันทรวิชัย เคยเป็นชุมชนอยู่ในวัฒนธรรมทวารวดี
สำหรับพระพุทธรูปยืนแกะสลักจากหินทราย ทั้ง 2 องค์นี้ ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่วัดพุทธมงคล และวัดสุวรรณาวาส โดยหลวงพ่อพระยืนที่ประดิษฐานอยู่ใต้ร่มโพธิ์วัดพุทธมงคล ชาวบ้านจะเรียก “หลวงพ่อพระยืน” โดยแกะจากหินทรายขนาดใหญ่ สูงประมาณ 2 เมตร พุทธศิลป์ประทับยืนเอียง พระพักตร์ค่อนข้างยาวรี พระเนตรโปน ลักษณะดังกล่าวแสดงถึงอิทธิพลของศิลปะแบบคุปตะอินเดีย ผสมผสานกับศิลปกรรมแบบพื้นเมือง
ส่วนพระพุทธุรูปยืนโบราณอีกองค์หนึ่ง ประดิษฐานอยู่ที่ “วัดสุวรรณาวาส” ตั้งอยู่ในตัว อ.กันทรวิชัย ห่างจากวัดพุทธมงคล ประมาณ 2 กิโลเมตร ชาวบ้านจะเรียกว่า “พระพุทธมิ่งเมือง” ลักษณะศิลปกรรมสร้างจากหินทรายแดงเหมือนกับหลวงพ่อพระยืน วัดพุทธมงคล
สรุปแล้วพระพุทธรูปยืนทั้งสององค์ เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของศิลปะแบบทวารวดี อายุราวพุทธศตวรรษที่ 14-16 จะพบมากที่ภาคอีสานเท่านั้น
ตำนานพื้นบ้านการสร้างพระพุทธรูปยืนทั้ง 2 องค์ เล่าสืบต่อกันมาว่า ก่อนปีมะเส็ง จุลศักราช 147 (พ.ศ.1328) ผู้ครองเมืองคันธาธิราช หรือกันทรวิชัย นามว่า ท้าวลินจง มีบุตรชายคนเดียวชื่อ ท้าวลินทอง มีจิตใจโหดเหี้ยม ผู้เป็นบิดาจึงไม่ยกเมืองให้ครอบครอง ทำให้ท้าวลินทอง ผู้บุตรมีความโกรธแค้น จึงจับบิดาขังทรมาน เพื่อบังคับให้บิดายกเมืองให้แก่ตน แต่บิดาก็หาได้ยอมไม่ มารดาได้อ้อนวอนบุตรชาย แต่ด้วยความที่ได้รับความทุกข์ทรมานแสนสาหัส จึงถึงแก่ความตายในที่สุด ต่อมาท้าวลินทองก็ได้ทำมาตุฆาตมารดาตายตามไปอีก
นับแต่ท้าวลินทองปกครองเมืองคันธาธิราช บ้านเมืองมีแต่ความระส่ำระสาย ท้าวลินทองรู้สึกไม่สบายกายใจ โหรทำนายว่าท้าวลินทองทำบาปกรรมมหันตโทษ ผลกรรมจึงทำให้เดือดร้อน การจะล้างบาปกรรมได้ โดยการสร้างพระพุทธรูป เพื่ออุทิศส่วนกุศลผลบุญทดแทนพระคุณบิดาและมารดา จึงได้สร้างพระพุทธรูปองค์หนึ่ง สร้างอุทิศเพื่อทดแทนพระคุณมารดา ผินพระพักตร์ไปเบื้องทักษิณทิศ คือ พระพุทธมิ่งเมือง ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่วัดสุวรรณาวาส
อีกองค์หนึ่งเพื่อทดแทนพระคุณบิดา ผินพระพักตร์ไปเบื้องทักษิณทิศ คือ พระพุทธมงคลเมือง ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่วัดพุทธมงคล
เมื่อท้าวลินทองได้สร้างพระพุทธรูปทั้งสององค์เสร็จแล้ว ความเดือดร้อนกระวนกระวายใจก็มิได้เบาบางลง และล้มป่วย จึงได้สร้างพระพุทธรูปปางพุทธไสยาสน์ ด้วยทองคำหนักเท่าตัวขึ้นอีกองค์หนึ่ง ความทุกข์ร้อนที่มีอยู่จะบรรเทาเบาบางลง แต่ด้วยบาปกรรมของท้าวลินทอง จึงไม่สามารถสร้างให้สำเร็จได้ ท้าวลินทองก็ได้ถึงแก่ความตาย
พระพุทธรูปยืนทั้ง 2 องค์ ชาวบ้านต่างให้ความศรัทธาเป็นอย่างมาก หากมีกิจธุระเดินทางก็จะพากันมาจุดธูปเทียนกราบไหว้บูชาหลวงพ่อพระยืนทั้ง 2 องค์ เพื่อความเป็นสิริมงคล หรือผู้ที่สัญจรผ่านหน้าวัด จะให้สัญญาณบีบแตรรถและยกมือไหว้ขอพรให้การเดินทางสะดวก ปราศจากภยันตรายทั้งปวง
รวมทั้งวันหยุดธรรมดาหรือวันหยุดนักขัตฤกษ์ จะมีนักท่องเที่ยวที่เดินทางผ่านเส้นทางนี้ เข้ามาสักการะกราบไหว้ขอพรหลวงพ่อพระยืนทั้ง 2 องค์ เป็นจำนวนมาก
การสักการะหลวงพ่อพระยืนทั้ง 2 องค์ เส้นทางคมนาคมค่อนข้างสะดวก ถนนสี่เลน โดยเริ่มต้นจากตัวเมืองมหาสารคาม ไปตามถนนสาย 213 มหาสารคาม-จ.กาฬสินธุ์ ประมาณ 16 กิโลเมตร เมื่อขึ้นเนินก่อนเข้า อ.กันทรวิชัย 2 กิโลเมตร จะเห็นวัดพุทธมงคล ตั้งอยู่ด้านขวามือมองเห็นหลวงพ่อพระยืนประดิษฐานอยู่ใต้ร่มโพธิ์ บรรยากาศภายในวัดจะมีดอกไม้ธูปเทียน และอื่นๆ คอยอำนวยความสะดวกให้ญาติโยมได้ร่วมทำบุญ
ส่วนของพระพุทธุรูปยืนโบราณอีกองค์หนึ่งประดิษฐานอยู่ที่วัด “สุวรรณาวาส” ก่อนเดินทางผ่านหากมีเวลาควรแวะเข้าไปกราบสักการะขอพร หรือหากมีเวลาน้อย เมื่อผ่านหน้าวัดก็เพียงแต่พนมมือขึ้นไหว้ก็เป็นสิริมงคลต่อชีวิตเช่นกัน
จึงขอเชิญชวนนักท่องเที่ยวสายธรรม หากมีโอกาสเดินทางเยือนมหาสารคาม ไม่ควรพลาดแวะสักการะหลวงพ่อพระยืนทั้ง 2 องค์ รับรองได้บุญกุศลหลาย
เชิด ขันตี ณ พล