…• “ทำสมาธิไม่ยากหรอก การรักษาสมาธิสิยาก…เหมือนสร้างบ้านหลังหนึ่งไม่นานก็เสร็จ…แต่การรักษาบ้านทำความสะอาดบ้าน ต้องทำไปเรื่อยๆ ตลอดชีวิต” สารธรรมมงคล หลวงพ่อชา สุภัทโท วัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี
…• “พ่อท่านมุ่ย จันทสุวัณโณ” วัดป่าระกำเหนือ อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช เป็นพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง พระเครื่องที่โด่งดัง เป็นที่นิยมและหายาก คือ “พระปิดตาน้ำนมควาย” สร้างจำนวนไม่มาก รุ่นแรก มีทั้งพิมพ์เล็กและพิมพ์ใหญ่ กรรมวิธีการสร้างพิถีพิถันและสร้างยากมาก ขั้นแรก จะทำแท่งดินสอที่จะนำมาเขียนอักขระ โดยทำจากข้าวเม่าตำผสมกับสมุนไพรและมวลสารต่างๆ ตามตำราโบราณ ปั้นเป็นแท่งใช้เขียนอักขระลงบนกระดานชนวนพร้อมบริกรรมคาถาไปด้วย แล้วลงอักขระทำผงปถมังด้วยนะต่างๆ จนผงทะลุกระดานชนวน
…• ใช้น้ำนมควายเป็นตัวประสาน ขั้นตอนในการเคี่ยวน้ำนมควายนั้นก็พิถีพิถัน ขณะเวลาเคี่ยวก็ต้องบริกรรมคาถาตลอดการเคี่ยวจนเสร็จ เมื่อน้ำนมควายข้นดีแล้ว จึงนำมาคลุกเคล้ากับผงปถมังที่เขียนไว้ โดยมิได้ผสมปูนหรือสิ่งอื่นใดเลย เป็นเนื้อผงปถมังล้วน เมื่อเหนียวดีแล้ว จากนั้นจะกดลงบนพิมพ์ และตกแต่งที่ด้านหลังทุกองค์ ทุกขั้นตอนจะทำผู้เดียวตลอดทุกองค์ หลังจากนั้นจะนำพระไปปลุกเสกเดี่ยวเป็นเวลานาน แล้วจึงนำมาแจก จัดเป็นพระปิดตาที่หายาก
…• “หลวงปู่เสือ สุวัณโณ” อดีตเจ้าอาวาสวัดคงคาเลิงใต้ อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม วัตถุมงคลได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก คือ “เหรียญรูปเหมือน” ปี พ.ศ.2529 จัดสร้างในวาระสิริอายุครบ 69 ปี เพื่อเป็นที่ระลึกแก่คณะศิษยานุศิษย์ เป็นเหรียญทองแดงรมดำ มีหูห่วง สร้างประมาณ 3,000 เหรียญ
…• เป็นเหรียญกลมรูปไข่ ด้านหน้า ยกขอบเป็นเกลียว จากด้านขวามีอักขระโค้งขึ้นไปด้านบนวน ลงไปทางขอบด้านซ้าย ซึ่งเป็นยันต์คงกระพันชาตรี ด้านขวา มีตัวอักษรไทยโค้งลงไปด้านล่างวกขึ้นไปด้านซ้าย เขียนว่า “หลวงพ่อปลัดเสือ สุวณฺโณ” บริเวณกลางเหรียญเป็นรูปเหมือนเต็มองค์ในอิริยาบถนั่งขัดสมาธิ ด้านหลัง เป็นยันต์อักขระพระเจ้าห้าพระองค์ มียันต์อุณาโลมปิดด้านบน 3 ตัว ด้านขวาของเหรียญมีตัวอักษรไทยโค้งลงไปด้านล่างวนขึ้นไปด้านซ้าย เขียนคำว่า “วัดคงคาเลิงใต้ อ.โกสุม จ.มหาสารคาม” ประกอบพิธีพุทธาภิเษกเดี่ยว ภายในอุโบสถตลอดพรรษา เป็นเหรียญยอดนิยมในพื้นที่อีกเหรียญของอำเภอโกสุมพิสัย
…• “หลวงพ่อกวย ชุตินธโร” วัดโฆสิตาราม (วัดบ้านแค) อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท พระเกจิอาจารย์ชื่อดัง เหรียญรุ่นแรก สร้างเมื่อปี พ.ศ.2504 เนื้อเหรียญเป็นทองฝาบาตรรมทอง จำนวนการสร้างประมาณ 5,000 เหรียญ โดยวิธีการปั๊ม ลักษณะเป็นทรงกลม หูเชื่อม ด้านหน้า เป็นรูปหลวงพ่อนั่งเต็มองค์
ด้านบนมีข้อความว่า “หลวงพ่อกวย วัดโฆสิตาราม” ด้านหลังบรรจุพระมหายันต์ที่ศักดิ์สิทธิ์ยิ่ง คือ ยันต์มงกุฎพระพุทธเจ้า ผูกด้วยหัวใจพระคาถาพระไตรปิฎก หัวใจพระคาถาไตรรัตน์ และยันต์ตรีนิสิงเหคั่นอยู่โดยรอบ ปัจจุบันหายากมากและราคาเช่าบูชาสูง
…• “หลวงพ่อสง่า อนุปุพโพ” พระเกจิดังวัดหนองม่วง อ.บางแพ จ.ราชบุรี จัดสร้างวัตถุมงคลที่โดดเด่นเป็นที่เลื่องลือ คือ เหรียญรุ่นแรก พ.ศ.2511 ลักษณะเป็นทรงกลมรูปไข่ มีหูห่วง จัดสร้างเป็น เนื้อเดียวคือเนื้อทองแดงผิวไฟ หลวงพ่อสง่า ปลุกเสกเอง ตอนแรกพร้อมกับปั๊มทำเป็นเหรียญ ไม่มีการระบุ พ.ศ. แต่ครั้นพอทำไปได้จำนวนหนึ่งก็ให้ช่างแก้ไขใส่บล็อกเป็นเลขปี พ.ศ.2511 ไว้ที่ด้านหลัง
…• ดังนั้น เหรียญรุ่นนี้ที่ไม่มีตัวเลขระบุปีพ.ศ. จึงมีน้อยมาก ด้านหน้าตรงกลางเป็นรูปเหมือนครึ่งตัวหันหน้าตรง ด้านล่างใต้รูปเหมือนเขียนคำว่า “พ.ศ.๒๕๑๑ พระครูอนุรักษ์ วรคุณ วัดหนองม่วง” บริเวณรอบขอบเป็นอักขรยันต์ ด้านหลังบริเวณตรงกลางเป็นอักขรยันต์ประจำตัว เป็นเหรียญดีที่อนาคตไกลอีกเหรียญของราชบุรี
…• “พระครูสังฆกิจบูรพา” หรือ “หลวงปู่บัว ถามโก” เจ้าอาวาสวัดศรีบูรพาราม ต.วังกระแจะ อ.เมือง จ.ตราด พระเกจิอาจารย์ชื่อดังเมืองตราด วัตถุมงคลที่ได้รับความนิยมคือเหรียญรูปเหมือนรุ่นแรก เมื่อปีพ.ศ.2524 ซึ่งเป็นปีที่วัดจัดงานปิดทองฝังลูกนิมิต บรรดาลูกศิษย์ขออนุญาตหลวงปู่จัดสร้างเหรียญรูปเหมือนขึ้นล่วงหน้าในปี พ.ศ.2523
…• ลักษณะเป็นทรงกลมรูปไข่ มีหูห่วง เป็นเนื้อทองแดง ในปีพ.ศ.2523 เป็นที่ระลึกในงานผูกพัทธสีมาวัดศรีบูรพาราม ด้านหน้าเหรียญ ตรงกลางเหรียญเป็นรูปเหมือนหลวงปู่บัวครึ่งองค์ หันหน้าตรง ด้านบนรูปเหมือนเขียนคำว่า “ที่ระลึกในงานผูกพัทธสีมา วัดศรีบูรพาราม ตราด” ด้านล่างใต้รูปเหมือนเขียนคำว่า “พระครูสังฆกิจบูรพา” ด้านหลังเหรียญยกขอบเหรียญ ตรงกลางเป็นยันต์ ใต้ยันต์เขียนคำว่า “๒๕๒๓” เหรียญรุ่นแรกนับวันจะหายากขึ้น
…• “พระวชิรสารโสภณ” หรือ “หลวงพ่อจุล อิสสรญาโณ” อดีตเจ้าอาวาส วัดหงษ์ทอง ต.สลกบาตร อ.ขาณุวรลักษบุรี จ.กำแพงเพชร และอดีตเจ้าคณะอำเภอขาณุวรลักษบุรี พระเถระที่ชาวบ้านให้ความเลื่อมใสศรัทธา วัตถุมงคลที่จัดสร้างขึ้นมีอยู่หลายรุ่น แต่ที่เป็นที่นิยมคือ “เหรียญรูปเหมือนหลวงพ่อจุล รุ่นแรก วัดหงษ์ทอง กำแพงเพชร พ.ศ.2499”
…• ลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีหูห่วง จัดสร้างเป็นเนื้อทองแดงกะไหล่ทอง ด้านหน้าตรงกลางเป็นรูปเหมือนหลวงพ่อจุลนั่งขัดสมาธิเต็มองค์หันหน้าตรง ใต้รูปเหมือนเขียนคำว่า “ที่ระฤกในงานถวายของขวัญพระครูวิกรมวชิรสาร วันที่ ๓๐ มีนาคม พ.ศ.๒๔๙๙” ด้านหลังไม่มีขอบ ตรงกลางเป็นอักขรยันต์ เป็นเหรียญที่ได้รับความนิยมในวงการพระเครื่อง
อริยะ เผดียงธรรม
[email protected]