“พระศรีอริยเมตไตรย” เป็นนามพระพุทธรูปที่มีความศักดิ์สิทธิ์ ประดิษฐานอยู่ที่วัดไลย์ ต.เขาสมอคอน อ.ท่าวุ้ง จ.ลพบุรี
“พระศรีอริยเมตไตรย” พุทธลักษณะเป็นศิลปะรัตนโกสินทร์ ปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง 92 เซนติเมตร สูง 107 เซนติเมตร วัสดุสำริดลงรักปิดทอง
สำหรับวัดไลย์เป็นวัดเก่าแก่ของจังหวัดลพบุรี ตั้งอยู่ริมแม่น้ำบางขาม สันนิษฐานกันว่าสร้างขึ้นตั้งแต่แรกตั้งกรุงศรีอยุธยาหรืออาจถึงสมัยสุโขทัย มีศิลปวัตถุที่น่าดูน่าชมหลายสิ่ง อาทิ พระวิหารเก้าห้องที่เก่าแก่พอกับวัด และมีลวดลายปูนปั้นที่ยังงดงามสมบูรณ์อยู่จนปัจจุบัน
แต่สิ่งที่ทำให้เป็นที่รู้จักกันมาก ได้แก่ รูปหล่อพระศรีอาริย์ หรือพระศรีอริยเมตไตรย ซึ่งหล่อแบบพุทธสาวก คือ พระเกศโล้น ไม่มีเปลวรัศมี ลักษณะคล้ายมนุษย์สามัญนั่งขัดสมาธิคล้ายปางมารวิชัย
ตามตำนานเล่าว่า ได้หล่อขึ้นแทนองค์พระศรีอริยเมตไตรยซึ่งได้เคยจุติลงมาเกิดในท้องถิ่นและบวชอยู่ ณ วัดไลย์แห่งนี้ หลังจากที่ได้บำเพ็ญกิจแห่งพุทธศาสนาจนบริบูรณ์แล้วก็ดับขันธ์กลับสู่ภพภูมิสวรรค์ชั้นดุสิต
ชาวบ้านทั้งหลายมีความโศกเศร้าเสียใจอาลัยเป็นอย่างยิ่งจึงร่วมใจกันสร้างรูปเหมือนไว้สักการะแทนสืบมา
รูปหล่อพระศรีอาริย์ที่ปรากฏอยู่ทุกวันนี้ เป็นรูปสร้างใหม่ขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เนื่องจากเกิดไฟป่าไหม้พระวิหาร รูปพระศรีอาริย์ชำรุดมาก
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ส่งมายังกรุงเทพฯ เพื่อให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ ทรงซ่อมสร้างขึ้นใหม่
ส่วนรูปเดิมนั้นกล่าวกันว่าสร้างในสมัยพระเจ้าปราสาททอง ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีพระราชศรัทธาสร้างรูปพระศรีอาริย์ไว้หลายรูป และนัยว่ารูปพระศรีอาริย์ในรุ่นเดียวกันยังหาดูได้ที่วัดในพระนครศรีอยุธยาอีกสองวัด คือ วัดชุมพลนิกายาราม อ.บางปะอิน และวัดใหม่ อ.นครหลวง
วัตถุมงคลรูปพระศรีอริยเมตไตรย วัดไลย์ สร้างขึ้นมาหลากหลายรุ่น นับแต่ปี พ.ศ.2460 ที่ได้สร้างเหรียญปั๊มพระศรีอาริย์ขึ้นเป็นครั้งแรก ในยุคที่หลวงพ่อสุ่น พุทธสโร เป็นเจ้าอาวาส (พ.ศ.2432-2471)
ต่อมาในยุคพระครูสุพุทธิสุนทร (เล็ก) เจ้าอาวาสรูปต่อมา (พ.ศ.2472-2483) ก็ได้สร้างเหรียญปั๊มพระศรีอาริย์เช่นกัน
ครั้นเมื่อพระครูสุจิตธรรมธัช (สาย สุจิตโต) เป็นเจ้าอาวาสวัด (พ.ศ.2483-2521) ก็ดำเนินการสร้างอีกครั้ง
ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง คือ เหรียญปั๊มพระศรีอาริย์ ปีพ.ศ.2467 มีหลายแบบพิมพ์ หลากเนื้อหา ทั้งทองแดงกะไหล่ทอง ทองเหลือง และเนื้ออะลูมิเนียม ส่วนเนื้อเงินก็มีบ้างเล็กน้อย
ลักษณะเป็นพิมพ์รูปใบเสมา มีหูในตัว ขนาดเหรียญกว้างประมาณ 2.2 เซนติเมตร สูงประมาณ 3 เซนติเมตร
ด้านหน้า เป็นรูปพระศรีอาริย์ประทับนั่งเหนืออาสนะตั่งสามขา มีอักษรไทยเบื้องล่างเหรียญว่า “ที่ระฤก พระศรีอาริย วัดไลย์” ใต้หูเหรียญมีอักขระขอมว่า “พุท ธะ สัง มิ”
ด้านหลัง เป็นยันต์สี่เหลี่ยมขมวดมุม แบ่งตารางเป็น 25 ช่อง บรรจุอักขระขอมเอาไว้ ใต้ยันต์เป็นปีที่สร้างเหรียญ คือ “พ.ศ.2467”
ส่วนอักขระขอมในตารางนี้ เมื่อถอดความแล้วได้ความหมายว่า “ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง ข้าพเจ้าขอถึงพระธรรมเป็นที่พึ่ง ข้าพเจ้าขอถึงพระสงฆ์เป็นที่พึ่ง พระพุทธเจ้าซึ่งบรรลุพระอรหันต์โดยชอบ ข้าพเจ้าขอกราบพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น”
นับเป็นเหรียญที่มีลักษณะงดงามและมากด้วยพุทธคุณ สมกับที่ได้รับการยกย่อง
พระศรีอาริย์ เป็นปูชนียวัตถุที่สำคัญ งานแห่จัดขึ้นในวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 6 ของทุกปี
วัดไลย์กำหนดงานนมัสการพระศรีอาริย์เป็นประจำปีละ 3 ครั้ง
ครั้งที่ 1 วันขึ้น 14 ค่ำ ถึง แรม 1 ค่ำ เดือน 3
ครั้งที่ 2 วันขึ้น 14 ค่ำ ถึง แรม 1 ค่ำ เดือน 6 โดยเฉพาะวันขึ้น 14 ค่ำ จะมีประเพณีแห่พระศรีอาริย์ตั้งขบวนแห่จากวัดราว 09.00 น. แห่ไปตามถนนสายบางงา-บ้านหมี่ไปหยุดที่วัดท้องคุ้ง บ้านหมี่ ระยะทางราว 5 กิโลเมตร แล้วแห่กลับ ถึงวัดราว 15.00-16.00 น.
ครั้งที่ 3 วันแรม 4 ค่ำ ถึงแรม 6 ค่ำ เดือน 11
นับเป็นประเพณีที่เก่าแก่ที่สุดที่มีมาแต่ครั้งโบราณกาล
พระศรีอริยเมตไตรย ประดิษฐานอยู่ที่มณฑป ประชาชนจะเข้าไปนมัสการได้ทุกโอกาส