…• “ความอยากอย่างแรงกล้าที่จะหลุดพ้นหรือรู้แจ้ง พยายามมากเกินไป แต่ขาดปัญญา..เป็นการเคี่ยวเข็ญตนเอง ไปสู่ความทุกข์ยากโดยไม่จำเป็น” สารธรรมมงคล หลวงพ่อชา สุภัทโท วัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี
…• “หลวงพ่อเนื่อง โกวิโท” หรือ “พระครูโกวิทสมุทรคุณ” วัดจุฬามณี ต.บางช้าง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม พระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง เมื่อกว่า 20 ปีก่อน กล่าวได้ว่า พระเครื่องและวัตถุมงคลทั้งที่สร้างเองและร่วมนั่งปรก ล้วนแล้วแต่พุทธคุณสูง ผู้ครอบครองต่างมีประสบการณ์เป็นที่ประจักษ์ “พระรูปหล่อหลวงพ่อเนื่อง” ก็เป็นหนึ่งในนั้นรูปหล่อเหมือนรุ่นแรก สร้างเมื่อปี พ.ศ.2515
ลักษณะเป็นรูปหล่อโบราณ สร้างด้วยเนื้อนวโลหะเพียงอย่างเดียว ด้านหน้า มีรูปเหมือนนั่งเต็มองค์บนฐานเขียง ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ รัดประคด มือทั้งสองข้างจับที่หัวเข่า มีภาษาไทยเขียนว่า “หลวงพ่อเนื่อง” ด้านหลัง ไม่มีอักขระยันต์ และไม่มีอักขระภาษาใดๆ ใต้ฐานตอกโค้ด น.หนู ปัจจุบัน กลายเป็นอีกวัตถุมงคลที่หายาก
…• “หลวงพ่อชุบ ปัญญาวุโธ” อดีตเจ้าอาวาสวัดวังกระแจะ ต.วังกระแจะ อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี พระเกจิอาจารย์สืบสายวิชาอาคมจากหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า สร้างพระเครื่องวัตถุมงคลไว้หลายชนิด แต่ที่มีชื่อเสียงมาก คือ “เหรียญพระพุทธ วัดวังกระแจะ รุ่นแรก” สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2533 ที่ระลึกในงานผูกพัทธสีมาของวัดวังกระแจะ ปลุกเสกเดี่ยว มีเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น
…• ลักษณะปั๊มรูปเสมาจอบ แบบมีหูในตัว ด้านหน้า เป็นรูปจำลองพระพุทธรูปปางสมาธิ บนอาสนะสวยงาม ข้างรูปพระมีอักขรยันต์ ขอบเขียนว่า “พระอาจารย์ชุบ วัดวังกระแจะ อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี” ด้านหลัง มีอักขรยันต์ ใต้อักขรยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า “ที่ระลึกในงานผูกพัทธสีมา วัดวังกระแจะ ๒๕๓๓” เป็นเหรียญที่ได้รับความนิยมสูง
…• ในปี พ.ศ.2532 ก่อนที่ “หลวงพ่อโอด ปัญญาธโร” อดีตเจ้าอาวาสวัดจันเสน อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ พระเกจิอาจารย์ชื่อดังนครสวรรค์ จะมรณภาพ ได้จัดสร้างวัตถุมงคลเป็นพระผงรูปเหมือน รุ่นลายเซ็น นับเป็นวัตถุมงคลรุ่นสุดท้าย ลักษณะเนื้อเป็นผงว่าน 108 ผสมเกสรดอกไม้ พิมพ์สี่เหลี่ยม ด้านหน้ามีขอบรอบ ตรงกลางเป็นรูปนูนนั่งสมาธิเต็มองค์ บนโต๊ะขาสิงห์ ล้อมรอบด้วยวงกลมรี หรือวงกลมรูปไข่ มีลายไทยที่มุมทั้งสี่ ใต้เส้นขอบวงกลมรี มีอักขระขอม และใต้โต๊ะขาสิงห์ มีเส้นนูนเป็นลายเซ็น “พระครูนิสัยจริยคุณ ”
…• ด้านหลังไม่มีขอบ ที่มุมทั้งสี่เป็นรูปลายไทยเช่นกัน มีวงกลมรี หรือวงกลมรูปไข่ภายในพื้นสี่เหลี่ยม ตรงกลางมีอักขระขอม “นะ ใหญ่ หรือ นะ เศรษฐี ” สามตัว ด้านบนมีอักขระขอมกำกับ ใต้อักขระขอม (นะ เศรษฐี) มีอักษรไทยว่า “หลวงพ่อโอด วัดจันเสน อ.ตาคลี จงนครสวรรค์” เป็นอีกรุ่นที่น่าเก็บสะสมไว้ในครอบครอง
…• “หลวงปู่เผือก ปัญญาธโร” อดีตเจ้าอาวาสวัดกิ่งแก้ว ต.ราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ พระเกจิชื่อดัง สร้างวัตถุมงคลที่ได้รับความนิยมมากมายหลายรุ่น ที่ได้รับความนิยม คือ พระกริ่งพุทธชินราช สร้างไว้เมื่อประมาณปี พ.ศ.2485 มี “พระมงคลราชมุนี” (สนธ์ ยติธโร) หรือ “ท่านเจ้าคุณศรี” (สนธ์) ศิษย์เอกสมเด็จพระสังฆราช (แพ) วัดสุทัศนเทพวราราม ร่วมทำพิธีด้วย
สร้างจำนวนไม่มากนัก เนื้อใช้ทองเหลืองผสมด้วยเงินก้อนโบราณ สีจึงออกมาขาวอมเหลือง สร้างเป็นรูปองค์พระพุทธชินราชมีตราอกเลา (รูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด) ประทับทั้งที่อยู่ด้านหน้าบ้าง และอยู่ด้านหลังบ้าง ถ้ามีตราอยู่ที่ด้านหน้า จะไม่มีที่ด้านหลัง ส่วนที่มีตราอยู่ที่ด้านหลัง จะไม่มีที่ด้านหน้า และมีเดือย ชนวนอยู่ 2 เดือย พระรุ่นนี้ จะมีการบรรจุเม็ดกริ่งไว้ด้วย เป็นอีกหนึ่งวัตถุมงคลที่หายากยิ่ง
…• “หลวงพ่อบ๊ก กัลยาณี” อดีตเจ้าอาวาสวัดเนินพยอม ต.หลุมเข้า อ.หนองขาหย่าง จ.อุทัยธานี เป็นพระเกจิอาจารย์ชื่อดังรูปหนึ่งในพื้นที่ลุ่มน้ำสะแกกรัง ในช่วงปีพ.ศ.2518 ดำเนินการซ่อมแซมพระอุโบสถวัดเนินพยอม และอนุญาตให้ นายเฉลิม บุญแจ้ง ศิษย์จัดสร้างเหรียญใบตำลึง รุ่น 1 จำนวน 500 เหรียญ เป็นเนื้อทองแดงรมดำ เนื้อเดียว ปลุกเสกเดี่ยวตลอดไตรมาส
…• ลักษณะเป็นเหรียญใบตำลึง หรือเหรียญหยดน้ำ มีเนื้อทองแดงรมดำ มีหูห่วงในตัว ด้านหน้ามีขอบเป็นลายกระหนกล้อมรอบ ตรงกลางเป็นรูปนูนครึ่งกาย ใต้องค์พระมีอักษรไทย เขียนว่า “หลวงพ่อบ๊ก กลฺยาณี รุ่น ๑” ด้านหลังมีขอบ ตรงกลางเป็นยันต์ห้า มีอุณาโลมกำกับทั้ง 3 ยอด ภายในยันต์บรรจุอักขระขอม นะ โม พุท ธา ยะ (หัวใจพระเจ้าห้าพระองค์) เหนือขอบด้านล่างใต้ยันต์มีอักษรไทยเขียนว่า “ที่ระลึกในงานซ่อมแซมพระอุโบสถ ปี ๒๕๑๘” เหรียญใบตำลึงหรือเหรียญหยดน้ำ หลวงพ่อบ๊ก รุ่น 1 ปี 2518 เป็นอีกเหรียญที่ได้รับความนิยม
…• “หลวงพ่อน้อย อินทสาโร” อดีตเจ้าอาวาสวัดธรรมศาลา อ.เมือง จ.นครปฐม หนึ่งในพระเกจิอาจารย์ดังแห่งยุค เป็นตำนานแห่งเมืองนครปฐมรูปหนึ่ง ด้านวัตถุมงคลได้รับความนิยมอย่างมาก สำหรับ “เหรียญทรงเสมาหลวงพ่อน้อยรุ่นแรก” สร้างขึ้นเมื่อปี 2496 เป็นเหรียญอัดพิมพ์ เนื้อโลหะผสมทองแดง
…• ด้านหน้า ด้านบนมีอักษรตัวนูน เขียนคำว่า “หลวงพ่อน้อย” ตรงตัว “ห” มีขีดบริเวณหัว ขอบด้านหน้ามีลายกนก กึ่งกลางเป็นรูปเหมือนหลวงพ่อน้อยครึ่งองค์หันหน้าตรง ด้านล่างรูปหลวงพ่อน้อยประมาณแนวอกตัดตรง และไม่มีส่วนใดชิดเส้นขอบ จุดสังเกตมีเส้นขนแมวคมขวาง ด้านหลังเรียบ มียันต์นะปถมัง ตรงกลางเป็นเส้นนูนขึ้นมา เหรียญรุ่นนี้ ปัจจุบันหายาก
อริยะ เผดียงธรรม
[email protected]