วันที่ 10 พ.ย. 2567 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระบรมราชโองการ ประกาศพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์ พระราชญาณกวี เป็น พระเทพวัชรญาณกวี ปรีชาธรรมสาธก ตรีปิฎกบัณฑิต ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี พระราชาคณะชั้นเทพ สถิต ณ วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก พระอารามหลวง กรุงเทพฯ มีฐานานุศักดิ์ตั้งฐานานุกรมได้ 5 รูป
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 9 พ.ย.2567 ประกาศ ณ วันที่ 10 พ.ย.2567
พระเทพวัชรญาณกวี (สุวิทย์ ปิยวิชโช) เป็นพระนักวิชาการ นักเขียน นักเผยแผ่ธรรมะ ที่มีผลงานหนังสือและสื่อโซเชี่ยลมีเดีย เจ้าของนามปากกาว่า “ปิยโสภณ”
ปัจจุบัน สิริอายุ 62 ปี พรรษา 41 ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ
มีนามเดิมว่า สุวิทย์ ปิยวิชชานันท์ เกิดเมื่อวันที่ 15 พ.ย.2505 ที่บ้านเหล่าหลวง ต.วังทอง อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี
อายุ 11 ขวบ เข้าพิธีบรรพชา เมื่อวันที่ 12 ต.ค.2516 ที่วัดอัมพวัน (บ้านม่วง) ต.คอนสาย อ.กู่แก้ว จ.อุดรธานี มีพระครูปภัสสรศีลคุณ (หลวงปู่ทัน ปภัสสโร) เป็นพระอุปัชฌาย์
มุ่งมั่นศึกษาพระปริยัติธรรม สามารถสอบได้นักธรรมชั้นตรี-โท-เอก ตามลำดับ และสอบได้เปรียญธรรม 4 ประโยค ที่วัดโพธิสมภรณ์ อ.เมือง จ.อุดรธานี
พ.ศ.2523 พระอุดมญาณโมลี (หลวงปู่จันทร์ศรี จันททีโป) ได้พาเข้ามากรุงเทพฯ ไปอยู่จำพรรษาที่วัดบวรนิเวศวิหาร เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรมต่อ จนกระทั่งครบอายุบวช เข้าพิธีอุปสมบท ณ พัทธสีมาพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร เขตพระนคร กรุงเทพฯ
ศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลีต่อจนสำเร็จ สอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
ครั้นเมื่อครั้งสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร (เจริญ สุวัฑฒโน) ยังดำรงสมณศักดิ์ สมเด็จพระญาณสังวร ได้รับโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกนั้น
พระมหาสุวิทย์ได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในผู้ช่วยเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช
เป็นศิษย์นายสุชีพ ปุญญานุภาพ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย นักวิชาการที่ได้รับการยอมรับทั้งจากพุทธศาสนิกชนและคณะสงฆ์ไทยอย่างกว้างขวาง ในฐานะที่สมบูรณ์ด้วยวิชาความรู้ทางพระพุทธศาสนาอย่างเยี่ยมยอด หาใครเทียมได้ยาก
ศึกษาพระไตรปิฎกภาษาบาลี พยายามนำเนื้อหาในพระไตรปิฎกมาอธิบายให้ประชาชนได้เข้าใจง่าย โดยพยายามแต่งเป็นหนังสือและผลิตวีซีดีออกเผยแผ่
หลังปฏิบัติศาสนกิจในฐานะผู้ช่วยเลขานุการสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร ได้ไม่นาน ก็ได้รับพระราชทานทุนจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่วิทยาลัยบูรพศึกษาและการศึกษาแอฟริกา มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ ระหว่างศึกษาเดินทางไปบรรยายพุทธธรรมตามโรงเรียน วิทยาลัย และมหาวิทยาลัย หลายแห่งจนเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ชาวพุทธในอังกฤษ
อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในผู้ประสานงานที่สำคัญที่สนับสนุนการก่อตั้งศูนย์พุทธศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด โดยเป็นผู้ดำเนินการประสานงานอีกด้วย
ต่อมา เมื่อมีการสร้างวัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก จึงได้ย้ายจากวัดบวรนิเวศวิหาร ไปจำพรรษาที่วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก จนถึงปัจจุบัน
ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2530 เป็นเปรียญธรรม 9 ประโยค วันที่ 12 ส.ค.2535 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็น พระราชาคณะชั้นสามัญเปรียญที่ พระศรีญาณโสภณ
พ.ศ.2553 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชญาณกวี
ล่าสุด วันที่ 10 พ.ย.2567 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพวัชรญาณกวี
“สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสสอนให้พิจารณามรณสติ เพื่อบรรเทาความมัวเมาในชีวิต ในเวลา ในความประมาท ก็เพราะต้องการให้คนมีสติตื่นตัว ให้รู้ว่า ความตายอยู่แค่ปลายจมูกเท่านั้น เรารู้วันเวลาเกิดได้ แต่เวลาตายรู้ไม่ได้ และไม่มีทางจะรู้ด้วยหากไม่เจริญมรณสติเป็นประจำ การเจริญมรณสติ คือ นึกถึงความตายบ่อยๆ อย่างนี้ จะสอนใจให้กล้าเผชิญความจริงได้ไม่ยาก” ธรรมบรรยายของ “ปิยโสภณ”
ทุกวันนี้ ท่านยังคงทำงานในสายวิชาการและเผยแผ่ธรรมะ ส่งเสริมสามเณรในโครงการกองทุนปลูกรากแก้วศาสนทายาท เป็นพระนักเขียน ผลงานสำคัญ คือ การจัดทำหนังสือพจนานุกรมบาลี-ไทย อรรถกถาธรรมบท ร่วมกับอาจารย์บุญสืบ อินสาร ป.ธ.9 เพื่อส่งเสริมการศึกษาพระปริยัติธรรมของพระภิกษุ-สามเณร
ชีวิตและประสบการณ์ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมายาวนานของพระเทพวัชรญาณกวี ควรค่าที่จะได้ยึดถือเป็นแบบอย่าง