หลวงปู่กินรี จันทิโย วัดกัณตะศิลาวาส ต.ฝั่งแดง อ.ธาตุพนม จ.นครพนม พระวิปัสสนาจารย์ชื่อดัง เป็นลูกศิษย์ออกติดตามธุดงค์กับ หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล และ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต บูรพาจารย์สายพระป่า

เป็นพระป่าเพียงรูปเดียวที่ไม่ได้เข้าญัตติเป็นคณะธรรมยุตในสมัยนั้น

เป็นพระอาจารย์ของหลวงปู่ชา สุภัทโท วัดหนองป่าพง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี และหลวงปู่อวน ปคุโณ วัดจันทิยาวาส ต.นามะเขือ อ.ปลาปาก จ.นครพนมด้วย

มีนามเดิมว่า กลม จันสีเมือง เกิดเมื่อวันพุธที่ 8 เม.ย.2439 ตรงกับสมัย ร.ศ.115 ที่บ้านหนองฮี ต.หนองฮี อ.ปลาปาก จ.นครพนม ครอบครัวประกอบอาชีพชาวนา

ในวัย 10 ขวบ บรรพชาที่วัดหนองฮี ต.หนองฮี อ.ปลาปาก จ.นครพนม

รายงานพิเศษ - เหรียญอายุวัฒนมงคล หลวงปู่กินรี จันทิโย

หลวงปู่กินรี จันทิโย

 

ครั้นพออายุครบ 20 ปี เข้าพิธีอุปสมบท ณ วัดเกาะแก้วอัมพวัน อ.ธาตุพนม จ.นครพนม แต่ด้วยการร้องขอจากบิดา-มารดา จึงลาสิกขาตามความประสงค์ และประกอบอาชีพเป็นนายฮ้อย ค้าวัว-ควาย

เนื่องจากอาชีพดังกล่าวต้องพรากพ่อแม่ลูกโค-กระบือ เชื่อเป็นกรรมสนองต้องสูญเสียภรรยาหลังคลอดบุตร สร้างความโศกเศร้าเป็นยิ่งนัก

จึงละวางทางโลก มุ่งหาทางธรรม เข้าพิธีอุปสมบทอีกครั้ง ณ วัดศรีบุญเรือง ต.กุดตาไก้ อ.ปลาปาก จ.นครพนม เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2465 ขณะมีอายุ 25 ปี โดยมีพระอาจารย์วงศ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์พิมพ์และพระอาจารย์พรหมาเป็นพระคู่สวด

ได้ชื่อใหม่จากพระอุปัชฌาย์จากชื่อเดิม กลม เป็น “กินรี” มีฉายาว่า จันทิโย

อยู่จำพรรษที่วัดหนองฮี ต.หนองฮี อ.ปลาปาก เพื่อสอนความรู้ภาษาไทยทั้งการอ่านและเขียนให้แก่เด็กๆ ในหมู่บ้าน และยังขุดลอกสระน้ำขนาดใหญ่ด้วยตัวเอง เพื่อให้วัดและชาวบ้านได้มีน้ำอุปโภคบริโภค

ต่อมาไปศึกษาเล่าเรียนกัมมัฏฐานจากพระอาจารย์ทองรัตน์ กันตสีโล ที่สำนักบ้านสามผง อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม ได้ระยะหนึ่ง จึงเดินทางกลับสู่วัดบ้านเกิด และได้จัดตั้งสำนักสงฆ์ฝ่ายอรัญวาสี ชื่อว่า สำนักสงฆ์เมธาวิเวก

รายงานพิเศษ - เหรียญอายุวัฒนมงคล หลวงปู่กินรี จันทิโย

ครั้งหนึ่ง พระอาจารย์ทองรัตน์ได้พาไปกราบนมัสการหลวงปู่มั่น ณ วัดป่าสุทธาวาส จ.สกลนคร เพื่อรับโอวาทถึงข้อธรรม พร้อมกับการเจริญสมาธิ ภาวนาจิตให้สงบ ซึ่งใช้ชีวิตอยู่กับหลวงปู่มั่นเพียง 2 ปีเท่านั้น

ธุดงค์มุ่งไปตามป่าเขา เลาะเลียบฝั่งโขงไปฝั่งลาว กราบนมัสการพระพุทธบาทโพนสัน กระทั่งไปจำพรรษาอยู่กับเผ่าแม้วที่ จ.อุตรดิตถ์ ฉันแต่ข้าวโพด ธุดงค์ข้ามไปย่างกุ้ง ประเทศพม่า และรับนิมนต์ให้ไปจำพรรษาอยู่ที่วัดกุลาจ่อง ก่อนมุ่งหน้าไปสู่แดนพุทธภูมิเพื่อนมัสการสังเวชนียสถานทั้ง 4 และจำพรรษานาน 12 ปี จนพูดภาษาพม่าได้

จากนั้นจึงกลับมาพักอยู่สำนักสงฆ์เมธาวิเวกระยะหนึ่ง ก่อนย้ายไปจำพรรษาอยู่ที่วัดกัณตศิลาวาส ต.ฝั่งแดง อ.ธาตุพนม

ระหว่างนี้ ยังแวะเวียนไปหาหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น และพระอาจารย์ทองรัตน์อยู่เป็นนิจ ซึ่งยังมีลูกศิษย์ที่สำคัญรูปหนึ่งที่มีชื่อเสียง คือ หลวงปู่ชา สุภัทโท แห่งวัดหนองป่าพง ที่ได้อยู่จำพรรษาศึกษาปฏิบัติธรรมและคอยอุปัฏฐากรับใช้หลวงปู่กินรี ในระหว่างปี พ.ศ.2490-2491 ก่อนจะนำพระพุทธศาสนาไปประกาศเผยแผ่ไปยังทวีปต่างๆ ทั่วโลก

มีโรคประจำตัวไอและปอดชื้น แต่ไม่ยอมไปหาหมอรักษา จนอาการอาพาธทรุดหนัก กระทั่งวันที่ 26 พ.ย.2523 ละสังขารอย่างสงบ สิริอายุ 84 ปี พรรษา 58

รายงานพิเศษ - เหรียญอายุวัฒนมงคล หลวงปู่กินรี จันทิโย

ทั้งนี้ ก่อนที่จะมรณภาพได้ 2 ปี คณะศิษย์จัดสร้างวัตถุมงคลขึ้น เพื่อฉลองอายุวัฒนมงคลวันคล้ายวันเกิดครบ 82 ปี เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2519

สร้างโดย พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ผบ.ทบ.ในสมัยนั้น จัดสร้างเหรียญหลวงปู่กินรี รุ่น 1 พ.ศ.2519 ไว้แจกจ่ายให้ทหาร ส่วนหนึ่งถวายไว้แจกจ่ายผู้มาร่วมทำบุญ

เป็นเหรียญเนื้อเงิน เนื้อนวโลหะ และเนื้อทองแดงผิวไฟ แต่ไม่ทราบจำนวนที่จัดสร้างแน่ชัด ลักษณะเหรียญเป็นรูปทรงคล้ายใบโพธิ์ มีหู

รายงานพิเศษ - เหรียญอายุวัฒนมงคล หลวงปู่กินรี จันทิโย

เหรียญอายุวัฒนมงคล หลวงปู่กินรี จันทิโย

 

ด้านหน้าขอบเป็นลายกนกที่อ่อนช้อยงดงาม ถัดจากเส้นสันขอบ มีรูปเหมือนหลวงปู่กินรี นั่งขัดสมาธิเต็มองค์ ที่จีวรตอกโค้ด “ศล” ด้านล่างสลัก “จนฺทิโย” ฉายา

ด้านหลังครึ่งวงรีจากซ้ายไปขวาสลักคำว่า “หลวงพ่อกินรี จนฺทิโย วัดกัณตะศิลาวาส รุ่น ๑” ถัดจากเส้นขอบนูนบรรทัดที่ 1-4 มียันต์อักขระ บรรทัดที่ 5-6 ระบุอายุ ๘๒ ปี ๘ เมษายน ๑๙ ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดครบรอบในวัน เดือน ปี พ.ศ.นั้น ด้านล่างเขียนคำว่า “จ.นครพนม”

เป็น 1 ในเหรียญ 4 รุ่นที่ พล.อ.เกรียงศักดิ์ จัดสร้าง

ถือเป็นอีกเหรียญที่ออกแบบได้งดงาม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน