วันเสาร์ที่ 14 ธ.ค.2567 น้อมรำลึกครบรอบ 8 ปีแห่งการละสังขาร “หลวงปู่จันทร์ศรี จันททีโป” หรือ “พระอุดมญาณโมลี” อดีตเจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์ ต.หมากแข้ง อ.เมือง จ.อุดรธานี, ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 9 (ธรรมยุต) และที่ปรึกษามหาเถรสมาคม (มส.) พระมหาเถระสายพระป่ากัมมัฏฐานศิษย์ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต แม่ทัพธรรมแห่งอีสานฝ่ายวิปัสสนาธุระ

มีนามเดิมว่า จันทร์ศรี แสนมงคล เกิดเมื่อวันที่ 10 ต.ค.2454 ที่บ้านโนนทัน ต.โนนทัน อ.เมือง จ.ขอนแก่น บิดา-มารดาชื่อ นายบุญสาร และนางหลุน แสนมงคล

อายุ 8 ขวบ บิดาเสียชีวิต จนอายุได้ 10 ขวบ มารดาจึงนำไปฝากไว้กับเจ้าอธิการเป๊ะ ธัมมเมตติโก เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ศรี, เจ้าคณะตำบลโนนทัน และเป็นครูสอนนักเรียนโรงเรียนประชาบาล โดยรับไว้เป็นลูกศิษย์ใกล้ชิด

อริยะโลกที่ 6

ต่อมาเข้าพิธีบรรพชา เมื่อวันที่ 6 พ.ค.2468 ที่วัดโพธิ์ศรี ต.ศิลา อ.เมือง จ.ขอนแก่น

อายุครบ 20 ปีบริบูรณ์เข้าพิธีอุปสมบท ที่พัทธสีมาวัดศรีจันทร์ (วัดศรีจันทราวาส) ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 13 ม.ค.2474 มีพระครูพิศาลอรัญญเขต (จันทร์ เขมิโย) เจ้าคณะธรรมยุตจังหวัดขอนแก่น และเจ้าอาวาสวัดศรีจันทร์ (วัดศรีจันทราวาส) ในขณะนั้น เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์มหาปิ่น ปญญาพโล เป็นพระอนุสาวนาจารย์

ได้รับนามฉายาว่า “จันททีโป” อันมีความหมายเป็นมงคลว่า “ผู้มีแสงสว่างเจิดจ้าดั่งจันทร์เพ็ญ”

บวชได้เพียง 7 วัน ติดตามพระอาจารย์เทสก์ เทสรังสี แห่งวัดหินหมากเป้ง ต.พระพุทธบาท อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย และพระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ ศิษย์สายกัมมัฏฐานท่านพระอาจารย์มั่น เจ้าสำนักวัดป่านิโครธาราม ต.หมากหญ้า อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี เดินรุกขมูลคืออยู่โคนต้นไม้เป็นวัตร ซึ่งเป็นหนึ่งในธุดงควัตร 13 ตั้งแต่เดือนมกราคมไป

จนกระทั่งถึงเดือนมีนาคม พ.ศ.2475 ก่อนกราบลาหลวงปู่เทสก์ เพื่อขอไปศึกษาทางด้านพระปริยัติธรรมต่อในกรุงเทพฯ

พ.ศ.2475 สอบได้นักธรรมชั้นตรี-โท ที่สำนักเรียนคณะจังหวัดขอนแก่น

พ.ศ.2477 สอบได้นักธรรมชั้นเอก ที่สำนักเรียนวัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ

พ.ศ.2485 สอบได้เปรียญธรรม 4 ประโยค สำนักเรียนวัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ

หลังจากจบเปรียญธรรม 4 ประโยคแล้ว ช่วยเหลืองานพระศาสนา โดยเมื่อปี พ.ศ.2486 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดธรรมนิมิตร ต.บางแก้ว อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม

ต่อมาวันที่ 1 พ.ค.2497 สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (ม.ร.ว.ชื่น นภวงศ์ สุจิตโต) ทรงมีพระบัญชาให้มาอยู่ที่วัดโพธิสมภรณ์ ต.หมากแข้ง อ.เมือง จ.อุดรธานี เพื่อทำศาสนกิจคณะสงฆ์ เนื่องจากพระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล) มีอายุเข้าปูนชรา โดยแต่งตั้งให้เป็นรองเจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์ และในปีเดียวกันก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยเจ้าคณะจังหวัดอุดรธานี (ธรรมยุต) อีกตำแหน่งหนึ่ง

พ.ศ.2498 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ ประเภทวิสามัญ และในปีเดียวกันได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะจังหวัดอุดรธานี (ธรรมยุต) อีกตำแหน่งหนึ่ง

พ.ศ.2507 เป็นเจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์ พระอารามหลวงชั้นตรี

ลำดับสมณศักดิ์ วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2544 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองชั้นหิรัญบัฏ หรือรองสมเด็จพระราชาคณะที่ พระอุดมญาณโมลี

นับเป็นพระมหาเถระฝ่ายธรรมยุตรูปแรกที่อยู่ส่วนภูมิภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ได้รับการสถาปนาเป็นพระราชาคณะชั้น “รองสมเด็จพระราชาคณะ”

รวมทั้งได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 9 (ธรรมยุต)

แม้ท่านจะมีอายุมาก แต่ยังคงปฏิบัติกิจของสงฆ์และปฏิบัติธรรมอย่างคร่ำเคร่ง บิณฑบาตโปรดเวไนยสัตว์อย่างต่อเนื่อง จนศิษยานุศิษย์ขอร้องให้หยุดบิณฑบาต เนื่องจากเคยโดนวัยรุ่นซิ่งรถจักรยานยนต์ชนมาแล้ว ข้อวัตรนี้ชาวอุดรธานีทราบชัดดี และที่สำคัญท่านเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรชาวอุดรธานีอย่างแท้จริง ไม่เคยขาดงานนิมนต์ ไม่ว่าจะไกลหรือใกล้ ไม่เคยทอดธุระ ซึ่งท่านยึดเป็นหลักในการปฏิบัติเสมอที่ว่า

“กยิรา เจ กยิราเถนํ” แปลว่า “ถ้าจะทำการใด ให้ทำการนั้นจริงๆ ทุกสิ่งทุกอย่างถ้ามีความขยันหมั่นเพียร สิ่งนั้นต้องสำเร็จตามความตั้งใจจริง”

เมื่อเวลา 20.00 น. วันที่ 14 ธ.ค.2559 มรณภาพด้วยอาการอันสงบ ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย สิริอายุ 105 ปี พรรษา 85

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน