“พระธัมมวิตักโกภิกขุ” หรือ “พระยานรรัตนราชมานิต” วงการพระเครื่องเรียกขานนามท่านด้วยความเคารพว่า “เจ้าคุณนรฯ”

ท่านเป็นข้าราชสำนักในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อพระองค์เสด็จสวรรคต จึงได้บวชถวายเป็นพระราชกุศลตลอดชีวิต

เดิมชื่อ ตรึก จินตยานนท์ เกิดที่หลังวัดโสมนัสวิหาร อ.ป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ เมื่อวันเสาร์ที่ 5 ก.พ.2440 เป็นบุตรคนโตของพระนรราชภักดี (ตรอง จินตยานนท์) มารดาชื่อ ภุก จินตยานนท์

เมื่อเจริญวัยขึ้น เข้าศึกษาวิชาเบื้องต้นที่โรงเรียนวัดโสมนัสฯ จนจบชั้นประถม (ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดในสมัยนั้น) และได้เข้าศึกษาชั้นมัธยมที่โรงเรียนวัดเบญจมบพิตรฯ

รายงานพิเศษ - เหรียญเจ้าคุณนรฯ วัดเทพศิรินทราวาส

สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมด้วยการสอบได้ที่ 1 ของสนามสอบ ทั้งนี้ การสอบในสนามสอบในสมัยนั้น เป็นการสอบรวมกันหลายๆ โรงเรียน โดยใช้ข้อสอบเดียวกัน อาจจะกล่าวได้ว่าท่านสอบได้ที่ 1 ของประเทศในสมัยนั้น และได้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนข้าราชการพลเรือน (ปัจจุบันคือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) โดยเลือกเรียนวิชารัฐศาสตร์ ซึ่งไม่ค่อยตรงกับที่ท่านตั้งใจไว้ เพราะแต่เดิมท่านสนใจในวิชาแพทย์

แต่ด้วยบิดาเป็นนักปกครอง อยากจะให้เป็นนักปกครองตาม จึงเลือกเรียนตามความประสงค์ของบิดา และในขณะที่ศึกษาอยู่ เมื่อมีเวลาว่างก็จะเข้าเรียนพิเศษภาษาอังกฤษกับครูเฉลิม

สำหรับการเรียนวิชารัฐศาสตร์ จบด้วยการสอบไล่ได้ที่ 1 ของชั้นเรียน หลังจากศึกษาอยู่ในปีสุดท้าย นักศึกษาในปีนั้นต้องเข้ารับการซ้อมรบเสือป่าในฐานะนักเรียนเสือป่ารักษาพระองค์ และในการซ้อมรบครั้งนี้เองทำให้ชีวิตเปลี่ยนแปลงไป เดิมนั้นต้องการเป็นข้าราชการปกครอง กลับต้องมาเป็นข้าราชการในสำนัก เพียงเพราะล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 เห็นรูปร่างเล็ก จึงรับสั่งถามว่า “ตัวเล็กๆ อย่างนี้ถ้าเกิดข้าศึกดักทำร้ายแล้วจะสู้เขาไหวหรือ”

จึงกราบบังคมทูลว่า “ต้องขอลองสู้ดูก่อน ส่วนจะไหวหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่งขอรับ”

ถ้อยคำกราบบังคมทูลในครั้งนั้นเป็นที่พอพระราชหฤทัยของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 มาก

หลังจากซ้อมรบเสือป่าเสร็จสิ้นแล้วก็ทรงโปรดให้เป็นฝ่ายในและโปรดเกล้าฯ ให้เข้าไปรับใช้ประจำห้องบรรทมในที่สุด

ด้วยความจงรักภักดีที่มีต่อล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 จึงปฏิบัติรับใช้ด้วยความขยันและซื่อสัตย์จนเป็นที่โปรดปรานของล้นเกล้าฯ จนได้รับโปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยาพานทองที่ พระยานรรัตนราชมานิต เมื่อปี พ.ศ.2462 (ขณะนั้นอายุเพียง 25 ปีเท่านั้น) และได้รับพระราชทานสายสะพาย ประถมาภรณ์มงกุฎไทย

ต่อมา เมื่อรัชกาลที่ 6 สวรรคต เจ้าคุณนรฯ อุปสมบทในวันถวายพระเพลิงพระบรมศพ เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระราชกุศล ณ วัดเทพศิรินทราวาส โดยมีสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวรเถร) เป็นพระอุปัชฌาย์ ขณะที่บวชเจ้าคุณนรฯ มีอายุ 28 ปี

โดยครั้งแรกนั้นลาบวชเพียงพรรษาเดียว จากนั้นก็ผัดเป็นสองพรรษา สามพรรษา แม้กระทั่งรัชกาลที่ 7 ทรงเห็นว่าพระยานรรัตนราชมานิตเป็นผู้ที่ซื่อสัตย์ มั่นคงทั้งสูงด้วยความกตัญญูกตเวทีทั้งเป็นผู้ที่มีความรู้สูง สมควรที่จะแต่งตั้งให้รับราชการต่อไป

แต่ก็ไม่ยอมลาสิกขาออกไปรับตำแหน่ง

ยังให้ความสำคัญในการออกรับบิณฑบาตตอนเช้า รวมทั้งการลงโบสถ์ การสวดมนต์ทำวัตรเช้า-เย็นอย่างเคร่งครัด ตลอดเวลาที่อยู่ในสมณเพศ

จนกระทั่งถึงแก่กาลมรณภาพ วันที่ 8 ม.ค.2514 สิริอายุ 74 ปี พรรษา 46

สำหรับเหรียญรูปเหมือนเจ้าคุณนรฯ รุ่นแรก สร้างขึ้นในงานทำบุญฉลองอายุครบ 70 ปี เมื่อปี พ.ศ.2510

ลักษณะเป็นรูปหลังเต่า มีหู ด้านหน้าเป็นรูปเหมือนครึ่งองค์หันหน้าตรง มีเส้นขนแมวในหูเหรียญ ดวงตาคมชัด สันมีร่องรอยการตัด ใต้รูปเหมือนเขียนคำว่า “ธมฺมวิตกฺโกภิกขุ ๗๐”

ด้านหลังไม่มีขอบ ตรงกลางเป็นยันต์คมชัด พบว่ามี 2 แบบคือ แบบบล็อกเคลื่อนกับบล็อกไม่เคลื่อน

ปัจจุบันเป็นที่ต้องการของนักสะสมพระเครื่องอย่างมาก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน