กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา ร่วมกับวัดมังกรกมลาวาส จัดพิธีสมโภช พระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) มีพิธีเจริญพระพุทธมนต์แบบจีน โดยมี พระอาจารย์จู้เติง ผอ.สำนักงานกิจการนักศึกษา วิทยาลัยพุทธศาสนาแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ฝ่ายจีน Mr.Zhao Mengtao (จ้าว เหมิ่งเทา) ที่ปรึกษาประจำสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย เป็นประธานพิธีฝ่ายฆราวาสฝ่ายจีน นายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานฝ่ายฆราวาส

พร้อมด้วย น.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รมว.วัฒนธรรม, นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี, นายประสพ เรียงเงิน ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม, นายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม คณะสงฆ์จีนนิกายวัดมังกรกมลาวาส หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน เครือข่ายสภาวัฒนธรรม ประชาชน เข้าร่วม ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง กรุงเทพฯ

รัฐบาลโดยสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงวัฒนธรรม และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ร่วมกับภาคคณะสงฆ์ หน่วยงานภาครัฐและเอกชน จัดพิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) มาประดิษฐานเป็นการชั่วคราว ณ ประเทศไทย เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคล 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 และในวาระครบรอบ 50 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 4 ธันวาคม 2567 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2568

 

ซึ่งกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรมได้รับมอบหมายให้จัดกิจกรรมระหว่างวันที่ 29-30 ม.ค.2568 โดยมีพิธีเจริญพระพุทธมนต์แบบจีน ร่วมกับวัดมังกรกมลาวาส และมีกิจกรรมสมโภชพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) ประกอบด้วยการแสดงทางวัฒนธรรมจีน ได้แก่ เชิดสิงโต 9 สี 9 มงคล ประกอบด้วยเชิดสิงโตอวยพร สิงโตต่อตัวกายกรรม สิงโตมอบส้มมงคล สิงโตปล่อยป้ายอวยพร เชิดมังกรทอง มังกรทองภาคพื้น มังกรลอยฟ้า มังกรเล่นท่าลีลาสวยงาม มังกรภาคพื้นไหว้สี่ทิศ มังกรต่อตัวปล่อยป้ายอวยพร การแสดงทางวัฒนธรรมและความสัมพันธ์ไทย-จีน ชุดถวายพุทธบูชาศรัทธาพระเขี้ยวแก้ว และร่ายหลงหงส์ลอดลายจากสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์

วันที่ 30 ม.ค. เวลา 18.30 น. มีการแสดงทางวัฒนธรรมและความสัมพันธ์ไทย-จีน ทั้งนี้ เปิดให้ประชาชนเข้าถวายสักการะพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) ตั้งแต่ 07.00-20.00 น. เพื่อความเป็นสิริมงคล โดยประชาชนสามารถนำบัตรประชาชนแลก ณ จุดคัดกรอง ด้านศาลฎีกา ซึ่งมีจุดบริการดอกไม้สำหรับ สักการะพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) ให้บริเวณทางเข้า

จากข้อมูลการศึกษาเรื่อง “ตรุษจีนในสังคมไทย” ของสถาบันไทยศึกษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่าคนไทยรับประเพณีวัฒนธรรมจีนเข้ามาในสังคมไทยมาเป็นเวลานานแล้ว ผสมกลมกลืนจนคนไทยไม่รู้สึกว่าประเพณีจีนเป็นสิ่งแปลกในวิถีชีวิต แต่ไม่สามารถจะระบุได้แน่ชัดว่าวัฒนธรรมจีนมีอิทธิพลในสังคมไทยตั้งแต่เมื่อใด คนไทยเชื้อสายจีนยังคงดำรงรักษาวิถีการดำเนินชีวิตตามวัฒนธรรมจีน และการประกอบพิธีกรรมตามธรรมเนียมประเพณี

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเทศกาลตรุษจีนที่เป็นเทศกาลหลักของคนจีน ร่วมกับเทศกาลไหว้พระจันทร์ เทศกาลสารทจีน เทศกาลเช็งเม้ง หรือกระทั่งเทศกาลถือศีลกินเจ ซึ่งคนไทยในปัจจุบันคุ้นเคยกับเทศกาลต่างๆ เหล่านี้เป็นอย่างดี เป็นการฉลองวันขึ้นปีใหม่ตามธรรมเนียมจีน ซึ่งถือเป็นเทศกาลที่มีความสำคัญมากในวัฒนธรรมจีน โดยเฉลิมฉลองด้วยหลักการพื้นฐานในเรื่องความกตัญญูกตเวที ความยึดถือในวงศ์สกุลและบรรพบุรุษของตระกูล โดยมีความเชื่อว่าถ้าปฏิบัติธรรมเนียมได้อย่างถูกต้องตามประเพณีจะเกิดความเจริญมั่งคั่ง ความสันติสุข และความไพบูลย์วงศ์ตระกูล ตลอดจนความรุ่งเรืองของกิจการการค้าต่างๆ และความก้าวหน้าในหน้าที่การงานของสมาชิกในครอบครัว

ซึ่งคติความเชื่อต่างๆ ในเทศกาลตรุษจีนมีความคล้ายคลึงกับเทศกาลสงกรานต์ของคนไทย ที่ถือเป็นการฉลองวันขึ้นปีใหม่และการแสดงออกในความเคารพนับถือต่อบรรพบุรุษและความยึดถือในความเป็นครอบครัว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน