“พระราชธรรมาภรณ์” หรือ “หลวงพ่อเงิน จันทสุวัณโณ” แห่งวัดดอนยายหอม จ.นครปฐม พระเกจิชื่อดังรูปหนึ่งของจังหวัด ที่เป็นที่เคารพศรัทธาของชาวนครปฐมและจังหวัดใกล้เคียง
เป็นชาวบ้านดอนยายหอมโดยกำเนิด เกิดในครอบครัวเกษตรกรรมที่มีฐานะมั่งคั่งครอบครัวหนึ่งของบ้านดอนยายหอม เมื่อวันอังคารที่ 16 ก.ย.2433

หลวงพ่อเงิน จันทสุวัณโณ
อุปสมบทเมื่อวันที่ 18 พ.ค.2453 ที่พัทธสีมาวัดดอนยายหอม มีพระปลัดฮวย เจ้าอาวาสวัดดอนยายหอม เป็นพระอุปัชฌาย์
พำนักจำพรรษา ณ วัดดอนยายหอม ตั้งใจศึกษาพระธรรมวินัย ท่องบ่นบทสวดมนต์ต่างๆ จนคล่องแคล่ว
เป็นพระเถระผู้เข้มขลังในพระเวทวิทยาคม ดังจะเห็นได้จากวัตถุมงคลต่างๆ ที่ท่านสร้าง และปลุกเสกเอาไว้ มีผู้นำไปใช้อาราธนาติดตัว แล้วเกิดประสบการณ์มาอย่างมากมายจนนับไม่ถ้วน
ได้รับขนานนามจากชาวนครปฐม และสานุศิษย์ทั่วประเทศว่าเป็น “เทพเจ้าแห่งวัดดอนยายหอม”
ในปลายพรรษาที่ 5 หลวงพ่อเงิน พร้อมด้วยพระที่วัดอีก 2 รูป ออกธุดงค์ไปตามชนบท มุ่งหน้าขึ้นภาคเหนือ ค่ำที่ไหนก็ปักกลดพักแรมที่นั่น อาหารที่ฉันก็เพียงมื้อเดียว
การเดินทางในสมัยนั้นเดินทางด้วยเท้าเปล่า บ้านคนก็ไม่ค่อยมี เป็นป่าดงดิบที่เต็มไปด้วยสัตว์ร้ายนานาชนิด ซึ่งยากที่พระภิกษุผู้ที่ไม่มีอาวุธหรือเครื่องมือเพื่อป้องกันภัย จะธุดงค์ได้ตลอดรอดฝั่งด้วยความปลอดภัย เพราะเหตุที่ต้องประสบกับความยากลำบาก
ในการออกธุดงค์ในครั้งนั้น จึงมีเรื่องเล่าต่อมา หลังกลับจากธุดงค์เป็นเวลา 4 เดือน ท่านได้มาปักกลดอยู่ข้างบ้านดอนยายหอม โดยที่มีผิวกายดำกร้าน ร่างกายซูบผอมราวกับคนชรา ชาวบ้านที่เดินผ่านไปมาจึงจำท่านไม่ได้
แม้แต่นายแจ้งซึ่งเป็นพี่ชาย ก็คิดว่าเป็นพระธุดงค์มาจากที่อื่น แต่พอเข้าไปดูใกล้ๆ ต้องตกตะลึง แทบจะปล่อยโฮออกมา พอได้สติจึงยกมือไหว้ แล้วถามท่านว่า “คุณเงินหรือนี่” ซึ่งหลวงพ่อเงินก็ตอบพร้อมกับหัวเราะว่า “ฉันเอง โยมพี่ทิดแจ้ง ฉันแปลกมากไปเชียวหรือ จึงจำฉันไม่ได้ ฉันมาปักกลดอยู่ที่นี่นานแล้ว เห็นพวกบ้านเราเขาเดินผ่านไปผ่านมาหลายคน แต่ไม่มีใครทักฉันเลย”
ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดดอนยายหอม เมื่อปี พ.ศ.2466 และท่านได้ละสังขารด้วยอาการสงบ เมื่อวันที่ 13 ม.ค.2520 ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี สิริอายุ 87 ปี พรรษา 66
เมื่อครั้งยังมีชีวิต หลวงพ่อเงินได้จัดสร้าง “เหรียญหล่อพระพุทธชินราช พิมพ์เข่าลอย” ในปี พ.ศ.2493 เพื่อแจกเป็นที่ระลึกสำหรับผู้มีจิตศรัทธาช่วยกำลังแรงงานและกำลังทรัพย์ในการจัดสร้าง “พระศรีทักษิณนุสร” เป็นพระประธานประจำอุโบสถวัดดอนยายหอม
กล่าวสำหรับ “พระพุทธชินราช” พระประธานในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.พิษณุโลก พระพุทธรูปที่ได้รับการยกย่องว่างดงามที่สุดในโลก
มีผู้ที่เข้ากราบนมัสการขอพร มักประสบความสำเร็จดังหวัง เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของสาธุชนทั่วทั้งประเทศ ทำให้มีพระเกจิอาจารย์หลายสำนักที่เลื่อมใสศรัทธา อาราธนามาจำลองเป็นวัตถุมงคลให้พุทธศาสนิกชนได้เช่าบูชา เพื่อความเป็นสิริมงคลในโอกาสต่างๆ เสมอมา ซึ่งยังคงพุทธคุณความศักดิ์สิทธิ์ขององค์พระไม่เสื่อมคลาย
สาเหตุที่เรียกขานกันว่า “ชินราชเข่าลอย” ด้วยก่อนหน้านี้หลวงพ่อเงิน จัดสร้างพระพุทธชินราชหล่อเนื้อทองผสมมาแล้วครั้งหนึ่ง เป็นการแกะแบบนูนต่ำ ทำให้องค์พระแบน ไม่สูงจากพื้นผนังเหรียญนัก
ขณะที่ชินราชเข่าลอย เป็นการแกะแม่พิมพ์แบบศิลปะนูนสูง และส่วนที่แตกต่างกันเด่นชัดที่สุดคือบริเวณเข่าขององค์พระ จึงนำมาขานนามตามพุทธลักษณะเด่น ซึ่งก็คือชินราชเข่าจมและชินราชเข่าลอยนั่นเอง
การหล่อเหรียญหล่อพระพุทธชินราชพิมพ์เข่าลอย เป็นการหล่อแบบโบราณ ดำเนินการกันบริเวณหน้าอุโบสถหลังใหม่ วัดดอนยายหอม โดยวัดได้ว่าจ้างโรงงานหล่อพระให้จัดสร้างขึ้น มีนายช่างสนิท เปาวโร เป็นผู้แกะแบบพิมพ์และหล่อพระขึ้น ทำให้องค์พระมีลักษณะพิมพ์ทรงและการหล่อที่งดงาม และด้วยเป็นการเทหล่อด้วยโลหะผสมหลากชนิด ทำให้มีชนวนหลายประเภทที่ผสมรวมกันอยู่
ผิวพรรณวรรณะขององค์พระจึงมีความหลากหลาย ที่พบมากที่สุดคือสีเหลืองอมเขียว เนื่องจากใช้ทองที่เหลือจากพระประธานเป็นหลัก ทำให้แก่ทองเหลือง ส่วนผิวสีอื่นๆ มีโทนสีออกน้ำตาลไหม้เกือบดำ
ได้รับการยกย่องให้เป็นวัตถุมงคลยอดนิยม