“พระธรรมเจดีย์” หรือ “หลวงปู่จูม พันธุโล” อดีตเจ้าคณะมณฑลอุดรธานี อดีตเจ้าคณะจังหวัดอุดรธานี และอดีตเจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์ จ.อุดรธานี พระมหาเถระชั้นผู้ใหญ่ เป็นที่เลื่อมใสของชาวอุดรธานี

ศิษย์เอกหลวงปู่จันทร์ เขมิโย พระปฏิบัติชื่อดังอีกรูปของเมืองไทย

เป็นพระอุปัชฌาย์พระวิปัสสนาจารย์หลายรูป อาทิ พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร, หลวงปู่ขาว อนาลโย, หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ รวมถึงหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโนด้วย

มีนามเดิมว่า จูม จันทรวงศ์ เกิดเมื่อวันพฤหัสบดี 24 เม.ย.2431 ชาติภูมิอยู่บ้านท่าอุเทน อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม ครอบครัวประกอบอาชีพทำนาทำไร่

เข้าเรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดศรีเทพประดิษฐาราม อ.เมือง จ.นครพนม จนจบหลักสูตรประถมศึกษาบริบูรณ์

ต่อมาเมื่ออายุ 12 ปี บิดามารดาประสงค์จะให้บวชเรียน จึงจัดการให้บรรพชา เมื่อวันที่ 10 ธ.ค.1442 มีพระครูขันธ์ ขันติโก วัดโพนแก้ว อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม เป็นพระอุปัชฌาย์

รายงานพิเศษ - เหรียญพระธรรมเจดีย์(จูม) วัดโพธิสมภรณ์ อุดรธานี

เมื่อบวชเป็นสามเณรแล้ว อยู่ที่วัดโพนแก้ว ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรม อักษรขอม อักษรธรรม และภาษาไทย

มีความสนใจในการศึกษา สามารถเขียนอ่านได้อย่างคล่องแคล่ว มีสติปัญญาเฉียบแหลม จนเป็นที่รักใคร่ของครูบาอาจารย์

ต่อมาในปี พ.ศ.2445 ย้ายไปอยู่วัดอินทร์แปลง ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครพนม เพื่อศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรม

พ.ศ.2446 พระอาจารย์จันทร์ ซึ่งต่อมาได้รับสมณศักดิ์ที่ “พระเทพสิทธาจารย์” และเป็นพระอาจารย์ มีความสนใจการปฏิบัติกัมมัฏฐานเป็นพิเศษ ท่านพระอาจารย์จันทร์ ได้ปรารภจะเดินทางไปกราบขออุบายธรรมจากพระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายกัมมัฏฐาน คือ พระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล และพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต

ดังนั้น สามเณรจูมและหมู่คณะ จึงติดตามไปมุ่งสู่จังหวัดอุบลราชธานี

เข้ากราบนมัสการพระอาจารย์เสาร์ และพระอาจารย์มั่น ณ สำนักวัดเลียบ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี และได้ฝากถวายตัวเป็นศิษย์ เพื่อศึกษาข้อวัตรปฏิบัติ

ตลอดเวลา 3 ปี ได้รับการอบรมสั่งสอนจากพระอาจารย์ใหญ่เป็นอย่างดี จนมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องวัตรปฏิบัติ ทำให้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ สร้างสมบารมีเรื่อยมา จนได้เป็นพระมหาเถระผู้มีชื่อเสียงโด่งดังและเป็นปูชนียบุคคลของชาวอีสานในกาลต่อมา

รายงานพิเศษ - เหรียญพระธรรมเจดีย์(จูม) วัดโพธิสมภรณ์ อุดรธานี

พระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล)

 

พ.ศ.2449 พระอาจารย์จันทร์ ได้กราบลาพระอาจารย์ใหญ่ทั้งสอง พาคณะพระภิกษุและสามเณร กลับจังหวัดนครพนมอันเป็นถิ่นมาตุภูมิ

เมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ เข้าพิธีอุปสมบท เมื่อวันที่ 9 มี.ค.2450 ที่พัทธสีมาวัดมหาชัย อ.หนองบัวลำภู จ.อุดรธานี มีพระครูแสง ธัมมธโร วัดมหาชัย เป็นพระอุปัชฌาย์, พระครูสีมา สีลสัมปันโน วัดจันทราราม อ.ภูเวียง จ.ขอนแก่น เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์จันทร์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์

ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรม ทั้งแผนกนักธรรมและบาลี ที่สำนักวัดเทพศิรินทราวาส เป็นเวลาหลายพรรษา สามารถสอบไล่ได้นักธรรมชั้นตรี-โท ต่อมาสอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยค

อยู่จำพรรษาที่วัดเทพศิรินทราวาส เป็นเวลานานถึง 15 ปี เมื่อได้รับพระบัญชาจากคณะสงฆ์ จึงอำลาวัดเทพศิรินทราวาส เดินทางสู่จังหวัดอุดรธานี ไปเป็นเจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2466 เป็นต้นมา

เมื่อดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาส เร่งพัฒนาวัดให้เจริญรุ่งเรือง ทั้งทางด้านศาสนสถาน ศาสนศึกษา ศาสนบุคคล และศาสนธรรม

ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2473 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราช ที่พระราชเวที พ.ศ.2478 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ที่พระเทพกวี

พ.ศ.2488 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ที่พระธรรมเจดีย์

มรณภาพด้วยอาการอันสงบ ที่โรงพยาบาลศิริราช สิริอายุ 74 ปี พรรษา 55

รายงานพิเศษ - เหรียญพระธรรมเจดีย์(จูม) วัดโพธิสมภรณ์ อุดรธานี

ย้อนไปในปี พ.ศ.2504 คณะศิษย์ได้จัดสร้างเหรียญพระธรรมเจดีย์ รุ่น 2 ที่ระลึกผู้ที่มาทำบุญ

ลักษณะเป็นรูปทรงคล้ายใบสาเก มีหูห่วง เนื้อทองแดงรมดำชนิดเดียว แต่ไม่ทราบจำนวนที่จัดสร้างแน่ชัด

ด้านหน้ามีเส้นสันนูน 2 ชั้นรอบขอบเหรียญตามส่วนเว้าโค้ง ใต้หูห่วงสลักตัวหนังสือนูนคำว่า “พระธรรมเจดีย์ พนฺธุลเถระ” ตรงกลางเป็นรูปเหมือนพระธรรมเจดีย์ครึ่งองค์หันหน้าตรง ใต้รูปเหมือน เขียนคำว่า “(จูม) จันทรวงศ์”

ด้านหลังเมีเส้นสันนูนหนาและบางรอบขอบ ใต้หูห่วงมีซุ้มรัศมีเปลวเพลิง ภายในซุ้มมีพระพุทธรูปนั่งท่าขัดสมาธิ ปีกซ้ายขวาด้านบนและล่างสุด สลักอักขระธรรมกำกับ

เหรียญพระธรรมเจดีย์ รุ่น 2 รูปทรงเหมือนเหรียญรุ่นแรกแทบจะทุกประการ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน