คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

คำถาม คำตอบ เอา ไม่เอา ประยุทธ์ หลัง “เลือกตั้ง”

วิเคราะห์การเมือง เหมือนกับคำประกาศอันออกมาจากพรรคเพื่อไทย เหมือนกับคำประกาศอันออกมาจากพรรคพลังประชารัฐที่สำแดงตนเป็นคนจัดตั้งรัฐบาล

จะเท่ากับเป็นการเล่นกลกลางอากาศ

เพราะว่าพรรคเพื่อไทยมี 137 ส.ส.อยู่ในมือ เพราะว่าพรรคพลังประชารัฐมีคะแนนรวม 7.9 ล้านเสียงอยู่ในมือ

แต่พลันที่พรรคอนาคตใหม่แสดงการเห็นด้วยกับพรรคเพื่อไทย

ที่มองว่าเป็นการเล่นกลกลางอากาศก็เริ่มมิใช่แล้วเพราะไม่เพียงแต่จะมี 88 ส.ส.เข้ามาร่วม หากแต่ยังมีคะแนนรวม 5.8 ล้านเสียงเข้ามาด้วย

ผลอย่างฉับพลันทันใดก็คือ 137 ส.ส.ของพรรค เพื่อไทยก็ทะยานไปเป็น 215 ส.ส. ผลก็คือคะแนนรวม 7.4 ล้านเสียงของพรรคเพื่อไทยก็ทะยานไปเป็น 13.2 ล้านเสียง

มากกว่า 120 ส.ส.ถึง 95 มากกว่า 7.9 ถึง 5.3 ล้านเสียง

ไม่ว่าจะมองจากตัวเลขของส.ส. ไม่ว่าจะมองจากตัวเลขของฐานคะแนนรวม ฝ่ายของพรรคเพื่อไทยย่อมมีความเหนือกว่าพรรคพลังประชารัฐ

สิ่งที่หลายคนรอคอยก็คือ การเคลื่อนไหวของแต่ละพรรคการเมือง

แม้ว่าจำนวน 5 ส.ส.ของพรรครวมพลังประชาชาติไทยพร้อมที่จะแสดงการเป็นฝ่ายเดียวกับพรรคพลังประชารัฐ แต่ก็เป็นจำนวนที่น้อยกว่าของพรรคอนาคตใหม่ อย่างยิ่ง

สายตาในทางสังคมจึงทอดมองไปยัง 56 ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ และ 53 ส.ส.ของพรรคภูมิใจไทยว่าเอนไปฟากฝ่ายใดในทางการเมือง

ไปกับพรรคเพื่อไทยหรือไปกับพรรคพลังประชารัฐ

การตัดสินใจของพรรคประชาธิปัตย์ การตัดสินใจของพรรคภูมิใจไทย ก็ทรงความหมาย ขึ้นโดยอัตโนมัติ

เรียกว่าเป็นพรรคในลักษณะอันเป็น “ตัวแปร”

อย่าได้แปลกใจหากทาง คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประกาศว่ามิได้ยึดติดกับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พร้อมเจรจาหาทางออกร่วมกับทุกพรรคการเมือง

ประเมินผ่านคำประกาศอันมาจากพรรคเพื่อไทย ประเมินผ่านคำประกาศอันมาจากพรรคอนาคตใหม่ 2 พรรคนี้มีจุดร่วมเด่นชัด

เด่นชัดว่าต้องการขจัด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกไป

จึงนำไปสู่ข้อเสนออันแหลมคมยิ่งในทางการเมือง นั่นก็คือ จะเอา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือจะไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

นี่ย่อมเป็น “คำถาม” ที่ต้องหา “คำตอบ” ในการจัดตั้งรัฐบาล

อ่านข่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน