คอลัมน์ ชกไม่มีมุม

วงค์ ตาวัน

ทอดสายตามองไปทั่วโลก ในประเทศที่มีความเจริญรุ่งเรือง มีบรรยากาศความเป็นประชาธิปไตย ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ ดัชนีชี้วัดสังคมที่เจริญทางปัญญาและเปิดกว้างแบบนี้ที่สำคัญสุดก็คือ เสรีภาพของสื่อมวลชน

ขณะที่ประเทศเผด็จการทหาร หรือเผด็จการระบบคอมมิวนิสต์ ระบบสังคมนิยม สิ่งที่ควบคู่กันก็คือ การจำกัดเสรีภาพของผู้คน

และมีกฎหมายปิดปากสื่ออย่างเข้มงวด!!

อีกทั้งประเทศแบบนี้ จะใช้สำนักข่าวของรัฐ เป็นสื่อกลางให้ประชาชนต้องรับฟังข่าวสารข้อมูลจากแหล่งเดียวเท่านั้น

แถมในโครงข่ายอินเตอร์เน็ต ที่มากด้วยข้อมูลข่าวสาร สื่อสารฉับไว จะต้องถูกรัฐบาลเผด็จการเข้าไปยึดครอง ด้วยระบบซิงเกิลเกตเวย์ เพื่อกำหนดให้ประชาชนเข้าถึงเว็บไซต์ต่างๆ หรือสื่อโซเชี่ยลมีเดีย

เฉพาะที่รัฐอนุญาตให้เท่านั้น

ตัวอย่างประเทศที่ใช้ระบบนี้ ได้แก่ จีน เกาหลีเหนือ

แล้วประเทศไทยเรา ที่หยุดประชาธิปไตยมาเกือบ 3 ปีแล้ว

เรามีแนวโน้มกำลังเดินตามแนวทางของรัฐเผด็จการ เหล่านี้หรือไม่

คงมองออกได้ไม่ยาก

เช่น การส่งนายทหารนักโฆษณาข้อมูลข่าวสารของรัฐ เข้าไปบริหารหน่วยงานประชาสัมพันธ์ของรัฐ

การออกพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ใหม่ ที่ทำให้เกิดการต่อต้านในหมู่ชาวเน็ตทั่วไทย เกิดปฏิกิริยาไปทั่วโลกออนไลน์

แล้วล่าสุด ที่กำลังเกิดแรงต้านจากองค์กรสื่อมวลชน 30 องค์กรก็คือ ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน!?!

เพราะเป็นกฎหมายที่ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานคุ้มครองเสรีภาพสื่อ แต่เน้นควบคุมสื่อโดยใช้อำนาจรัฐเข้าแทรกแซง

เห็นได้จากการให้ปลัดกระทรวง 4 คน เข้ามามีอำนาจในนามสภาองค์กรวิชาชีพสื่อ ซึ่งไม่มีประเทศประชาธิปไตยที่ไหนให้เจ้าหน้าที่รัฐระดับปลัดกระทรวง เข้ามานั่งกำหนดชะตากรรมสื่อเช่นนี้หรอก

นี่จะส่งผลกระทบต่อบทบาทของสื่อมวลชนในการ ตรวจสอบอำนาจรัฐ ปิดกั้นเสรีภาพในการรับรู้ข่าวสารของประชาชน

โดยเฉพาะเรื่องรัฐที่ไร้การตรวจสอบ ก็เป็นสาเหตุให้ประเทศไทยเพิ่งถูกลดอันดับด้านความโปร่งใส เมื่อเร็วๆ นี้ไง!

ที่น่าแปลกประหลาดก็คือ กฎหมายฉบับนี้ดำเนินการ โดยคณะกรรมาธิการด้านสื่อสารมวลชน ของสปท. มีพล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร เป็นประธาน

เป็นนายทหารที่มีเกียรติประวัติดีงาม แต่ก็อยู่ในหน่วยรบมาทั้งชีวิต

แถมให้สัมภาษณ์ยืนยันว่าต้องมีร่างกฎหมายฉบับนี้ โดยเปรียบเทียบว่า องค์กรที่จะเกิดขึ้นสามารถดูแลสื่อมวลชนได้ดี

“ถ้าจะสั่งให้ผมไปรบผมก็ไม่กลัวตาย เพราะอย่างน้อยก็มีคนดูแลรับผิดชอบชีวิตผม ในเมื่อองค์กรมีการดูแลบุคลากรที่ดี”

อืมมมม์ เรากำลังอยู่ในประเทศแบบไหนกัน!?!

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน