ชกไม่มีมุม : วงเจรจาไฟใต้ ผ่อนหนักให้เป็นเบา

ชกไม่มีมุม : การใช้นโยบายพูดคุยเจรจาเพื่อดับไฟใต้ เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เป็นการใช้แนวทางการเมืองนำการทหาร อย่างเป็นรูปธรรม

โดยในยุคนั้น มีพ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ทำหน้าที่เลขาธิการศอ.บต. เป็นหนึ่งในคณะเจรจา ดังนั้น กลไกในพื้นที่ จึงรองรับแนวทางแก้ปัญหาอย่างสันติวิธีได้อย่างลื่นไหล

เป็นเรื่องปกติที่การเจรจาในปัญหาใหญ่ มีรากฐาน ขัดแย้งมายาวนาน คงไม่จบอย่างรวดเร็ว

เพียงแต่เมื่อตั้งโต๊ะพูดคุย ก็เท่ากับเริ่มเข้าถึงแกนนำของขบวนการก่อความไม่สงบได้ใกล้ชิดขึ้น

ไม่ว่าจะเป็นผู้นำทางความคิด หรือผู้นำทางการรบ เริ่มเข้าถึง จับเข่าคุยกันได้

ระหว่างเจรจาเพื่อเป้าหมายใหญ่คือยุติไฟใต้ ทั้งหมด ซึ่งค่อยๆ ดำเนินไป ระหว่างนั้นเมื่อมีเรื่องร้อนแรงเฉพาะหน้าเกิดขึ้น ก็สื่อสารกันได้!

เพราะเมื่อการเซ็นสัญญาสันติภาพยังไม่มี สงคราม ยังไม่สงบ บรรดาเจ้าหน้าที่ตำรวจทหารก็ยังต้องปฏิบัติงานไปตามปกติ

การสืบจับ ตรวจค้น หรือปะทะกันก็ยังเกิดขึ้น แต่เมื่อมีการเปิดเจรจา จับเข่าคุยกันได้ การผ่อนหนักให้เป็นเบา ก็ทำได้

เช่น บางครั้งปฏิบัติการของตำรวจทหาร อาจสร้างผลกระทบ ต่อชาวบ้านเกิดความไม่เข้าใจ ก็ยังมีช่องทางสื่อสารถึงกัน

ไม่ปล่อยให้กลุ่มก่อความไม่สงบออกมาล้างแค้นตอบโต้ได้ทันท่วงที

หรือเกิดเหตุร้ายกับผู้นำศาสนา โต๊ะอิหม่าม ก็จะรีบประสานกันเป็นการภายใน ขอให้การคลี่คลายคดีด้วยพยานหลักฐานมีข้อสรุปก่อน ว่าใครทำกันแน่

ช่วยให้กระบวนการยุติธรรมเริ่มทำหน้าที่ได้ แทนการล้างแค้นแบบศาลเตี้ย!!

เรื่องแบบนี้เคยทำมาได้แล้ว คือสื่อสารถึงกันเพื่อให้เหตุรุนแรงเฉพาะหน้าลดลง

ตำรวจทหารก็ยังต้องรักษากฎหมายอย่างเข้ม แข็ง แต่รัดกุมขึ้น ไม่ให้บานปลายโดยไม่จำเป็น ฝ่ายคณะเจรจา ก็คุยกันไป พร้อมๆ กับจับเข่าคุยในเรื่องร้อนๆ เฉพาะหน้าไปพร้อมๆ กัน

หลังรัฐบาลยิ่งลักษณ์โดนล้มสู่ยุครัฐบาลทหาร แนวทางการเจรจาก็มีอยู่

แต่ปิดลับเลยไม่ได้รับรู้ในวงกว้าง ว่าไปถึงไหนอย่างไร!?

เข้าสู่ปี 2562 เดือนแรก ไฟใต้ก็ลุกโชน จนเกิดเหตุสะเทือนใจบุกยิงพระในวัด

ข้อเท็จจริงที่มีการปะทะกัน การตอบโต้กันทุกวี่วันตลอดเดือนมกราคมนี้

สะท้อนว่า น่าจะขาดช่องทางสื่อสารถึงกัน

ทำให้ความเข้าใจผิดในบางเหตุการณ์ การโกรธแค้น ในบางกรณี ไม่สามารถคุยกันได้

กลายเป็นตาต่อตาฟันต่อฟัน การสูญเสียของทุกฝ่าย!

โดย วงค์ ตาวัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน