คอลัมน์ ชกไม่มีมุม

กรรมการปรองดอง มาอีกแล้ว-มาแล้วมาอีก คณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์ กำลังเป็นข้อเสนอใหม่ในการหาทางออกให้กับบ้านเมือง เพื่อคลี่คลายสถานการณ์ที่เยาวชนนักเรียนนักศึกษายังคงเคลื่อนไหวอย่างร้อนแรง ในขณะที่นายกรัฐมนตรีก็ยืนกรานไม่ลาออกตามข้อเรียกร้อง เข้าสู่จุดเผชิญหน้ายิ่งขึ้น

คณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์ ถือเป็นอีกแนวทางที่น่าสนใจ เพราะการเจรจาพูดคุยนับเป็นทางแก้ปัญหาได้ดีที่สุด

แม้แต่ศึกสงคราม ยังจบลงที่โต๊ะเจรจา

แต่มีประเด็นที่น่าคิดอยู่ไม่น้อย เพราะพรรคการเมืองฝ่ายค้าน แสดงท่าทีไม่ค่อยเห็นด้วยกับคณะกรรมการปรองดองนี้ อาจจะไม่เข้าร่วมด้วย

เพราะมองว่ารัฐบาลไม่จริงใจ เป็นแค่อีกรูปแบบเพื่อซื้อเวลาเท่านั้น

ที่ฝ่ายค้านตั้งท่าเช่นนี้ คงติดพันมาจากบรรยากาศการประชุมสภาสมัยวิสามัญที่เพิ่งผ่านพ้นไป ที่หนักไปในทางอภิปรายเพื่อโจมตีม็อบ โดยฝ่ายรัฐบาลและส.ว.

ขณะเดียวกัน หลายคนก็อดไม่ได้ ที่จะนึกถึงท่วงทำนองของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งแต่ตอนรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557

ที่มักจะนำมากล่าวอ้างว่า จำเป็นต้องเข้ามาแก้ปัญหา หยุดสงครามกลางเมือง

อีกทั้งในตอนที่ยึดอำนาจนั้น คณะคสช.ชูประเด็นการปรองดองสมานฉันท์ เป็นจุดใหญ่เลยทีเดียว

จาก 22 พฤษภาคม 2557 มาจนถึงวันสิ้นสุดอำนาจคณะคสช.คือ 5 ปี

แล้วต่อเนื่องถึงวันนี้ ซึ่งแกนนำคสช. เข้ามาอยู่ในรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562

เกิดคำถามว่า กว่า 6 ปีมานี้ ภารกิจสร้างความปรองดองสมานฉันท์ของคณะนี้ ได้ผลอะไรขึ้นมาบ้าง!?

อาจจะมีการกล่าวอ้างว่า เห็นหรือไม่ว่า นับจากคสช.เข้ามา ปกครองบ้านเมือง ไม่มีม็อบต่างสี ออกมาวิวาทตีกันอีกเลย อ้างว่านี่ไงผลงานหยุดความขัดแย้งของคสช. แถมยังเอามาเป็นจุดขายในตอนเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ว่า ต้องประยุทธ์เท่านั้น จึงทำให้สงบได้

แล้วทำไมวันนี้ ม็อบจึงเต็มเมือง ออกมาต่อต้านพล.อ.ประยุทธ์ แล้วก็เริ่มมีม็อบอีกฝ่าย ที่สนับสนุนรัฐบาล ออกมาเผชิญหน้า

กระทั่งเริ่มต่อยตี เริ่มมีตบ!

จึงเกิดเสียงโต้แย้งว่า คสช.ไม่เคยสร้างความสมานฉันท์ได้เลย มีแต่ใช้อำนาจในฐานะรัฐบาลทหาร กดม็อบไม่ให้โงหัว เลยทำให้ดูสงบไง

อีกทั้งเอาเข้าจริงๆ คสช.ก็โดดลงมาเป็นคู่ขัดแย้งเอง เพราะไม่ได้เป็นกรรมการกลางดังที่อ้าง แต่เน้นจัดการกับฝ่ายหนึ่งฝ่ายเดิม

มาวันนี้สถานการณ์จึงวนกลับมาจุดเดิม เกิดม็อบร้อนระอุไปทั่ว

การผลักดันคณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์ เหมือนจะดี แต่จะสร้างความเชื่อถือได้หรือไม่!?!

เพราะคำว่าปรองดองสมานฉันท์ พูดมาตั้งแต่ 22 พฤษภาคม 2557 แล้ว เอามาพูดอีก จะมีคนยอมเชื่อรึเปล่า

ต้องแก้เรื่องความน่าเชื่อให้ได้ก่อน แล้วโต๊ะปรองดองจึงจะเกิดขึ้นมาได้!?

 

วงค์ ตาวัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน