สภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือสมช. เพิ่งมีการแต่งตั้งผู้บริหารสูงสุดขององค์กรคือ ตำแหน่งเลขาธิการ โดยที่ประชุมครม.อังคารที่ผ่านมา ได้อนุมัติให้นายฉัตรชัย บางชวด เป็นเลขาธิการสมช.อย่างเป็นทางการแล้ว
ก็เลยเป็นประเด็นที่พูดถึงกันมาก เมื่อได้รองเลขาธิการขึ้นมาเป็นเลขาธิการ ซึ่งนานทีปีหนที่ “คนใน” จะขึ้นมาเป็นหัวหน้าหน่วยงานได้!
หลายปีที่ผ่านมา มีแต่ “คนนอก” ที่ผลัดเปลี่ยนเวียนกันมา โดยเฉพาะจากตำรวจ และจากทหาร
อาจจะด้วยเหตุผล ความไว้วางใจและเชื่อมั่นในฝีมือของตำรวจหรือทหาร ซึ่งมีภารกิจความมั่นคงโดยตรง
รวมไปถึงเพื่อแก้ปัญหาการโยกย้ายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติหรือในกองทัพ ก็หาทางออกด้วยการโยกคนมาลงที่สมช.แทน
มาในปีนี้ก็เลยเป็นที่น่ายินดีที่ได้ลูกหม้อขึ้นมาเป็นหัวหน้าองค์กร!!
แต่จะว่าไปแล้ว กรณีของนายฉัตรชัยนั้น ได้รับการวางตัวให้มีบทบาทสำคัญอย่างมากตั้งแต่ยุคนายกฯเศรษฐา ทวีสิน
โดยเป็นหัวหน้าคณะพูดคุยสันติภาพเพื่อดับไฟใต้
เป็นรองเลขาธิการสมช. ที่นายกฯ เศรษฐาไว้วางใจให้ทำงานสำคัญเพื่อหาทางออกปัญหา 3 จังหวัดใต้ ทำให้คาดหมายกันอยู่แล้วว่า นายฉัตรชัยน่าจะได้ขึ้นเป็นเลขาธิการในปีนี้!
จนกระทั่งเมื่อบิ๊กอ้วน นายภูมิธรรม เวชยชัย มาเป็นรองนายกฯ ความมั่นคง ในยุคนายกฯ แพทองธาร ชินวัตร
ก็ยังเดินแนวทางเอาคนในขึ้นมาเป็นหัวหน้าหน่วยสมช. ทำให้นายฉัตรชัยได้รับการเสนอชื่อในที่สุด
การเปิดให้คนในได้เติบโตขึ้นมา ถือว่าเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้กับคนทำงานในองค์กร
ถ้ามีการย้ายคนข้ามหน่วยข้ามหัวมานั่งเก้าอี้เลขาธิการสมช.บ่อยๆ
คนในก็คงไม่มีกำลังใจ เช้าชามเย็นชามไปเรื่อย
กรณีนายฉัตรชัย คงจะช่วยปลุกขวัญกำลังใจคนในสมช. ว่าโอกาสเจริญก้าวหน้ามีอยู่จริง
ขณะเดียวกัน มองบทบาทของนายฉัตรชัยซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขหรือคณะเจรจาดับไฟใต้ ยังน่าสนใจว่าเป็นการให้พลเรือนเป็นผู้นำการเจรจา แทนที่ตัวแทนจากฝ่ายทหารในยุครัฐบาลก่อน
แถมคณะนี้ยังมี พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ เลขาธิการ ศอ.บต. ตัวแทนกระทรวงการต่างประเทศ ตัวแทนกระทรวงยุติธรรม แต่ก็มีผู้แทนกอ.รมน.ภาค 4 ร่วมด้วย
ส่วนใหญ่เป็นพลเรือน น่าจะช่วยสร้างบรรยากาศให้เห็นว่าเน้นการพูดคุยมากกว่าการปราบปราม
เรื่องราวของนายฉัตรชัย จึงเป็นทั้งการสร้างนิมิตใหม่ในการแต่งตั้งในสมช.
รวมทั้งกรณีตั้งพลเรือนมีบทบาทนำในการเจรจาดับไฟใต้
หวังว่าลงเอยจะช่วยให้ไฟใต้เบาบางลงไปเรื่อยๆ
วงค์ ตาวัน