บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด

จากผลการสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคในช่วงเทศกาลกินเจ ในปี 2561 พบว่า ในช่วงเทศกาลกินเจปีนี้ (9-17 ต.ค.2561) คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ยังสนใจกินเจ กลุ่มเป้าหมายหลักที่ตั้งใจจะกินเจ คือ กลุ่มวัยทำงาน

ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการกินเจเพื่อลดละกิเลส/ งดเว้นการบริโภคเนื้อสัตว์ ในขณะที่เหตุผลรองลงมาคือ กินเจเพื่อสุขภาพ/อิงกระแสอาหารออร์แกนิก ในขณะที่บางกลุ่มก็เป็นผู้รับประทานอาหารเจ/มังสวิรัติเป็นประจำอยู่แล้ว

โดยคาดว่าเทศกาลกินเจปี 2561 ผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพฯ จะมีเม็ดเงินใช้จ่ายด้านอาหารและเครื่องดื่มเจสะพัดกว่า 4,650 ล้านบาท ขยายตัว 3.3% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

เป็นผลมาจากราคาสินค้าอาหารและเครื่องดื่มเจที่คาดว่าจะปรับสูงขึ้น รวมถึงจำนวนคนที่สนใจกินเจขยับเพิ่มขึ้น จาก 51% ในปี 2560 เพิ่มขึ้นเป็น 57% ในปีนี้ โดยจำนวนคนที่กินเจเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่จะเลือกกินเจเป็นบางวัน เฉลี่ยอยู่ที่ 4 วัน และมีค่าใช้จ่ายในการกินเจปีนี้ประมาณ 315 บาท/คน/วัน (เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่เฉลี่ยอยู่ที่ 300 บาท/คน/วัน)

พฤติกรรมการบริโภคอาหารเจของคนกรุง ปี 2561 ที่น่าสนใจ มีดังนี้

รสชาติและภาพลักษณ์ของอาหารและเครื่องดื่มเจ ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคค่อนข้างสูง สะท้อนจากกลุ่มตัวอย่างที่เลือกกินเจในปีนี้ กว่า 66% ตัดสินใจเลือกซื้อจากรสชาติมากที่สุด

รองลงมาคือ การมองถึงคุณค่าทางโภชนาการ และราคาที่สมเหตุสมผล ตามลำดับ ในขณะที่คนไม่เลือกกินเจ เหตุผลหลักก็ยังมาจากเรื่องของรสชาติเช่นกัน โดยกว่า 64% ของกลุ่มตัวอย่างที่ไม่กินเจ มองว่า รสชาติของอาหารเจดูไม่อร่อย มัน เลี่ยน รองลงมาคือ หลายๆ เมนูเจที่วางขายทั่วไปมีแคลอรีสูง/ทำให้อ้วน และไม่มีความเชื่อเกี่ยวกับเทศกาลกินเจ

ปัจจัยเหล่านี้บ่งชี้ให้ภาพลักษณ์ของอาหารเจถูกมองเป็นอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพและส่งผลให้ผู้บริโภคลังเลที่จะเลือกกินเจ ดังนั้น มองว่า การปรับภาพลักษณ์อาหารเจให้ดูไม่จำเจ น่ารับประทานและมองเป็นอาหารเชิงสุขภาพ ก็น่าจะช่วยให้กลุ่มผู้บริโภค โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ มีทัศนคติและมุมมองต่ออาหารเจในเชิงบวกมากขึ้น

ซึ่งมีผลต่อโอกาสทางการตลาดสำหรับผู้ประกอบการผลิตและจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มเจในปีนี้และปีต่อๆ ไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน