ราคาสินค้าเกษตรต่ำ

ราคาสินค้าเกษตรต่ำ : ปี 2561 นับเป็นปีที่มีปัจจัยสนับสนุนสำคัญในภาคการเกษตรคือปริมาณน้ำที่อยู่ในเกณฑ์ดีผนวกกับสภาพอากาศในพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศเอื้ออำนวยต่อการผลิตทำให้ผลผลิตทางการเกษตรอยู่ในระดับสูงที่ 6.4% (YoY) ทั้ง ข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ลำไย ทุเรียน เป็นต้น

ส่งผลต่อภาพรวมราคาสินค้าเกษตรให้ยังคงหดตัวต่อเนื่อง จากปีก่อนอยู่ที่ 5.9% (YoY) โดยเฉพาะแรงฉุดจากราคายางพารา ปาล์มน้ำมัน และอ้อย ที่ล้วนแต่มีผลผลิตอยู่ในระดับสูง แม้ว่าราคาข้าวและมันสำปะหลังจะดีขึ้นก็ตาม ส่งผลต่อภาพรวม รายได้เกษตรกรในปี 2561 ให้ขยายตัวชะลอลงไปอยู่ที่ 0.2% เทียบกับอัตราการเติบโตที่ 3.2% (YoY) ในปี 2560 โดยเป็นผลจากแรงฉุดด้านราคาเป็นสำคัญ

อย่างไรก็ตามภาพรวมสภาพอากาศของไทยในปี 2562 ยังนับว่ามีความเอื้อต่อการทำการเกษตรจากปริมาณน้ำฝนที่คาดว่า น่าจะอยู่ในระดับสูง ทำให้ภาพรวมผลผลิตทางการเกษตรใน ปี 2562 น่าจะยังอยู่ในเกณฑ์ดีโดยเฉพาะในรายการพืชเกษตรหลักอย่างข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และอ้อย

ด้วยผลผลิตสินค้าเกษตรในปี 2562 ที่น่าจะอยู่ในระดับสูงผนวกกับแนวโน้มความต้องการจากต่างประเทศที่ชะลอลงตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะจีน ซึ่งจีนเป็นตลาดส่งออกสินค้าเกษตรอันดับที่ 1 ของไทยด้วยสัดส่วนกว่า 26.8% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรทั้งหมดของไทย

โดยคาดว่าแนวโน้มเศรษฐกิจจีนในปี 2562 อาจชะลอลงมาอยู่ที่ 6.2% จากที่ 6.6% ในปี 2561 ผนวกกับการที่จีนมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงด้านราคาสินค้าเกษตรของไทยอย่างมาก โดยเฉพาะในรายการยางพาราและมันสำปะหลังที่ไทยส่งออกไปจีนเป็นหลัก

ทำให้ประเมินว่าราคาสินค้าเกษตรในปี 2562 น่าจะให้ภาพที่ยังถูกกดดันให้อยู่ในระดับต่ำ โดยคาดว่าราคาสินค้าเกษตรจะหดตัวอยู่ที่ 0.2-0.6% (YoY) พิจารณาจากรายการสินค้าเกษตรหลักในปี 2562 ที่มีแนวโน้มราคาหดตัวในทุกรายการ

จากการดำเนินงานด้านนโยบายการเกษตรของภาครัฐที่มีความต่อเนื่องในปี 2562 ทำให้มองว่าในปี 2562 ภาพรวมรายได้เกษตรกรน่าจะไม่แตกต่างจากปี 2561 มากนัก โดยคาดว่ารายได้เกษตรกรอาจหดตัวอยู่ที่ 0.4-0.8% (YoY) จากผลของแรงฉุด ด้านราคาเป็นสำคัญ

อย่างไรก็ตาม รายได้เกษตรกรในปี 2562 นับว่ายังเป็นภาพที่ไม่ได้แย่นัก เนื่องจากผลของฐานที่สูงในปี 2561

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน